วันนี้ (30 ธ.ค.2564) น.ส.กฤษณา นิลพุทธ ผู้ค้าเนื้อหมูชำแหละ ตลาดสะพานใหม่ ขึ้นป้ายปรับราคาเนื้อหมูทุกส่วน เพิ่มขึ้นอีกกิโลกรัมละ 20 บาท หลังฟาร์มเลี้ยงใน จ.นครนายก ปรับราคาหมูที่ยังไม่ชำแหละ จากเดิมกิโลกรัมละ 8 บาท เป็น 20 บาท โดยอ้างว่าหาหมูมาขายไม่ได้ ส่งผลให้ราคาขายส่งเนื้อหมูชำแหละ ปรับราคาขึ้นมาเกือบเท่ากับ ราคาขายปลีกที่กิโลกรัมละ 200 บาท
ทั้งนี้ ลูกค้าที่เป็นร้านอาหารตามสั่งและร้านอาหารริมทาง งดจำหน่ายเมนูหมูปิ้งและหมูกรอบ จนกว่าสถานการณ์ราคาเนื้อหมูจะคลี่คลาย ส่งผลให้ยอดขายเนื้อหมูโดยรวมของร้านลดลงมากกว่าร้อยละ 50
น.ส.กฤษณา กล่าวว่า ล่าสุดฟาร์มเลี้ยงหมู แจ้งขอปรับราคาเนื้อหมูเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 5-10 บาท ในวันที่ 2 ม.ค.2565 ส่งผลให้ราคาหมูเนื้อ จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 200-250 บาท
ขายมาตั้งแต่เด็กนะ 10 กว่าปี ครั้งแรกในชีวิตที่เจอหมูโลละ 200 ทุกทีจะมีหน่วยงานมาควบคุมราคานะ แต่ปีนี้ไม่มีเลย
ปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้เจ้าของร้านประยุทธ ก๋วยจั๊บ ตลาดสะพานใหม่ ยอมรับว่าปรับลดปริมาณส่วนผสม ทั้งหมูกรอบและเครื่องในหมูบ้าง แต่หากหลังเทศกาลปีใหม่ เนื้อหมูแพงขึ้นอีกก็อาจพิจารณาปรับขึ้นราคาอาหาร
ตอนนี้เราพยายามไม่ขึ้นราคา ไม่อยากกระทบลุกค้า แต่ถ้าหลังปีใหม่ขึ้นเยอะ ร้านค้าก็อยู่ไม่ได้ อาจจะต้องขยับนิดนึง ไม่ให้ขาดทุนมากเกินไป
ไม่ต่างกับ น.ส.มัณทนา เหมาะดี ผู้จัดการร้านหมูกระทะจ่าอู สาขาสะพานแดง ที่พบปัญหาหมูแพงเช่นกัน วัตถุดิบปรับขึ้นหลายรายการมาโดยตลอด ตั้งแต่ราคาผักแพง จนมาถึงเนื้อหมูที่ปรับเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด
เธอพยายามขอข้อมูลจากพ่อค้าคนกลาง เพื่อประเมินสถานการณ์ โดยอาจตัดสินใจปรับขึ้นราคาอาหารอีกร้อยละ 10 จากราคาปัจจุบันจำหน่ายชุดละ 300 และ 500 บาท พร้อมเสนอให้รัฐบาลอนุญาตการนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศชั่วคราว เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น
ตอนนี้ฟาร์มเปิดเขาเลี้ยงไม่ได้ ได้เฉพาะฟาร์มปิดที่เป็นบริษัทใหญ่ ๆ เขาก็กำหนดราคาเองได้ ทางฟาร์มเล็ก ๆ ก็ตายไปทีละน้อย เพราะอาหารหมูก็แพง ทุกอย่างแพงขึ้น
สอดคล้องกับผู้ประกอบการหมูย่าง จ.ตรัง ที่ปรับราคาขึ้นมาอยู่ที่ 500 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมที่ขายอยู่ 450 บาทต่อกิโลกรัม
ผู้ประกอบการหมูย่างเมืองตรัง เปิดเผยว่าช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา พบว่าทุกวันราคาหมูหน้าฟาร์มจะปรับขึ้นครั้งละ 3-6 ต่อกิโลกรัม หากนับรวมแล้วปรับขึ้นแล้วประมาณ 20 บาท ขณะนี้ได้รับแจ้งจากฟาร์มเลี้ยงว่า ราคาหมูจะปรับขึ้นอีกโดยไม่มีเพดาน ทำให้ผู้ประกอบการเมืองตรัง จำเป็นต้องปรับราคาหมูย่างขึ้นอีก
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ยอมรับว่า ตั้งแต่ปี 2561-2564 เกษตรกรต้องเผชิญปัญหาโรคระบาดในสุกรมาโดยตลอด ทั้งโรคพีอาร์อาร์เอส โรคในระบบทางเดินหายใจ และโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF รวมกว่า 700 ครั้ง
ส่งผลให้ กรมฯ ต้องสั่งทำลายหมูมีชีวิต และพักคอกก่อนเลี้ยงหมูรุ่นต่อไป ตามมาตรการควบคุมการระบาดในสัตว์ ตาม พ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ประกอบกับต้นทุนการเลี้ยง ทั้งอาหารสัตว์ ยารักษา และวัคซีนเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง จึงเตรียมประชุมร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อออกมาตรการแก้ปัญหาต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"พาณิชย์-ปศุสัตว์" ชี้แจง "หมูแพง" เพราะต้นทุนเพิ่ม-โรคระบาดเพียบ
ราคาเนื้อหมูโคราชปรับตัวสูงขึ้น กก.ละ 180 บาท