ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ร้อง "ดีเอสไอ" เร่งแก้ปัญหาคอลเซ็นเตอร์หลอกบุคลากรทางการแพทย์

อาชญากรรม
18 ม.ค. 65
12:48
683
Logo Thai PBS
ร้อง "ดีเอสไอ" เร่งแก้ปัญหาคอลเซ็นเตอร์หลอกบุคลากรทางการแพทย์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เลขาธิการแพทยสภา นำข้อมูลหลักฐานมอบให้อธิบดีดีเอสไอ รับไปสอบสวนดำเนินคดีหลังพบว่า มีกลุ่มมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ หลอกลวงบุคลากรทางการแพทย์ให้หลงเชื่อว่า ตกเป็นผู้ต้องหาเกี่ยวข้องกับคดีการฟอกเงิน และหลอกให้โอนเงินให้

วันนี้ (18 ม.ค.2565) พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา เข้าพบนายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อขอให้สอบสวนหลังมีเอกสารและพยานหลักฐานพฤติกรรมของขบวนการคอลเซ็นเตอร์ ที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ โทรศัพท์เข้ามาหลอกลวงสมาชิกแพทยสภาหลายคน และยังพบว่า เครือข่ายคอลเซ็นเตอร์กลุ่มนี้ยังแอบอ้างเป็นตำรวจ โทรศัพท์หลอกลวงขอเอกสารสำคัญและให้ผู้เสียหายโอนเงินไปให้

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร เปิดเผยว่า กรณีนี้มีการหารือกับพนักงานสอบสวนดีเอสไอมาโดยตลอด และได้รับคำแนะนำให้รวบรวมข้อมูลเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ส่งให้พนักงานสอบสวนรับเป็นคดีโดยพบว่า มีผู้เสียหายเป็นบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาลและเภสัชกรจำนวนหลายคน ที่ตกเป็นผู้เสียหาย แม้ว่าผู้เสียหายจะมีไม่ถึง 10 คน และมูลค่าความเสียหายรวมแล้วประมาณ 10 ล้านบาท

เบื้องต้น พฤติกรรมของกลุ่มนี้จะโทรศัพท์ไปหาผู้เสียหายและบอกว่า ตกเป็นผู้ต้องหาคดีฟอกเงิน โดยมีคดีอยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวนดีเอสไอ หรืออาจจะใช้วิธีอ้างตัวเป็นตำรวจและหลอกผู้เสียหายว่า จับผู้ต้องหาได้คนหนึ่งโดยพบหลักฐานมีสมุดบัญชีและบัตรเครดิตเป็นชื่อของผู้เสียหาย จึงขอให้ไปรายงานตัว หรือพูดชักจูงให้ผู้เสียหายหวาดกลัว จนกระทั่งโอนเงินให้มิจฉาชีพไป

เลขาธิการแพทยสภา ยืนยัน มีการตรวจสอบระบบฐานข้อมูล ไม่พบมีการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัวบุคลากรทางการแพทย์ จึงเชื่อว่า ข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้อาจจะรั่วไหลมาจากภายนอกมากกว่าการนำออกข้อมูลจากบุคคลภายในองค์กรมาเผยแพร่ให้กับกลุ่มมิจฉาชีพ

ขณะที่ อธิบดีดีเอสไอ ยืนยัน ตรวจสอบแล้วไม่มีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเข้าไปเกี่ยวข้องในการหลอกลวงดังกล่าว แต่ถูกกลุ่มมิจฉาชีพแอบอ้างชื่อ และเบอร์โทรศัพท์ ไปใช้ในการหลอกลวงผู้เสียหาย ส่วนกระบวนการสอบสวนดำเนินคดี พนักงานสอบสวนดีเอสไอ อยู่ระหว่างตรวจสอบว่า ข้อมูลส่วนตัวของผู้เสียหายหลุดรอดไปถึงกลุ่มมิจฉาชีพได้อย่างไร แต่ข้อสังเกตที่เป็นไปได้ ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากช่องโหว่ที่ผู้เสียหายทำการซื้อขายสินค้าออนไลน์ หรือพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ของตัวผู้เสียหายเอง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ข้อมูลส่วนตัว ถูกกลุ่มมิจฉาชีพนำไปใช้

ดังนั้น จึงขอแนะนำให้ผู้เสียหายที่ถูกกลุ่มคอลเซ็นเตอร์เหล่านี้ โทรไปแอบอ้างให้ผู้เสียหายตรวจสอบความถูกต้องกับหน่วยงานต้นสังกัดที่ถูกแอบอ้างอย่าหลงเชื่อและโอนเงินให้ไปก่อนเด็ดขาดเพราะหน่วยงานราชการจะมีการทำหนังสือเชิญตัว มาให้ข้อมูลอย่างเป็นทางการไม่มีลักษณะการโทรไปติดตามตัวมาอย่างแน่นอน

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง