เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2565 นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวถึงการรับมือสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ในเรื่องของการป้องกันโรค หลังจากมีการจัดงานสัมมนาของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้หัวข้อ “หลังเว้นวรรค...จะกลับมาอย่างไรให้ปลอดภัย?”
นายสิทธิพันธ์ ระบุว่า งานดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากบริษัทผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งมีประสบการณ์ในการถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรคอนแทรคฟาร์มมิ่งของบริษัทปลอดภัยจากโรคระบาดได้สำเร็จ และยังคงเลี้ยงหมูป้อนตลาดได้จนถึงปัจจุบัน
แยกโซนนิ่งพื้นที่เสี่ยง-เข้มงวดควบคุม
สำหรับมาตรการป้องกันโรคดังกล่าว ต้องเริ่มต้นตั้งแต่การพิจารณาข้อมูลระดับจังหวัด โดยทำการโซนนิ่งพื้นที่เสี่ยงแล้วแบ่งออกเป็น 3 พื้นที่ ได้แก่
1. พื้นที่เสี่ยงสูง หรือเขตโรคระบาด
2. พื้นที่เฝ้าระวัง หรือติดกับเขตโรคระบาด
3. พื้นที่เสี่ยงต่ำ หรือพื้นที่นอกเขตเฝ้าระวัง
จากนั้นเจาะลึกลงไปในพื้นที่เสี่ยงสูง หรือเขตโรคระบาด แล้วแบ่งออกเป็น 3 ส่วนอีกครั้ง คือ ส่วนพื้นที่วิกฤต ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุด และส่วนพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด วัดตามระยะห่างจากจุดเกิดโรค 1 กม., 5 กม., และมากกว่า 5 กม.ตามลำดับ
ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือระยะห่างจากฟาร์มอื่นที่เกิดโรคในรัศมี 1-5 กม. ต้องแยกวิธีป้องกันโดยแบ่งโซนแยกคน แยกรถ งดกิจกรรม และตรวจติดตาม ควบคู่การลงรายละเอียด 15 ข้อ เช่น แยกเขตที่พักอาศัยกับเขตเลี้ยงสัตว์ให้ชัดเจน อาบน้ำเปลี่ยนชุดก่อนเข้าเขตเลี้ยงสัตว์ เปลี่ยนรองเท้าบู๊ท-จุ่มฆ่าเชื้อ แยกรองเท้าใส่ภายนอก เจ้าของฟาร์มต้องซื้ออาหารจากแหล่งปลอดโรคที่มีมาตรฐาน ห้ามรถภายนอกเข้าฟาร์ม ให้รถส่งอาหารสัตว์มาเพียงเดือนละ 1 ครั้ง และพักอาหาร 24 ชม. พ่นยาฆ่าเชื้อรถทุกคันก่อนเข้าฟาร์ม ป้องกันสัตว์พาหะทุกชนิด ใช้น้ำบาดาลเลี้ยงสุกร พ่นยาฆ่าเชื้อรอบประตูโรงเรือน โรยปูนขาวบนถนนและพื้น บ่อทิ้งซากใช้งานได้จริง ไม่นำซากสุกรออกนอกฟาร์ม ติดตั้ง CCTV หน้าฟาร์ม หน้าห้องอาบน้ำและในโรงเรือน เป็นต้น โดยทั้งเจ้าของฟาร์มและคนงานต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ มาตรฐานฟาร์มสุกรในระบบไบโอซีเคียวริตี เป็นทางเดียวที่จะป้องกัน ASF ได้ เนื่องจากยังไม่มียาหรือวัคซีนสำหรับโรคนี้ และถือเป็นพื้นฐานของระบบการป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์มที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ทั้งการเลี้ยงสุกรในโรงเรือนระบบปิด ป้องกันสัตว์พาหะ รับวัตถุดิบที่นำมาใช้ภายในฟาร์มจากแหล่งที่ปลอดภัย ควบคุมพนักงานและรถขนส่งเข้า-ออกฟาร์ม รวมถึงการกำหนดจุดส่งมอบสุกรที่แยกจากฟาร์ม