วันนี้ (1 ก.พ.2565) คณะอนุกรรมาธิการศึกษาข้อเท็จจริงโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในหมู เชิญตัวแทนจากหน่วยงานรัฐ และเอกชนเข้าชี้แจงสถานการณ์ ASF โดยนายสัตวแพทย์ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา ไทยอยู่ในสถานะปลอดเชื้อโรค ASF แม้มีการพบซากหมูมีเชื้อ ลอยตามแม่น้ำลวกจากเมียนมา 12 ตัว เมื่อปี 2562 และผลิตภัณฑ์หมูมีเชื้อที่มีผู้โดยสารสายการบินติดตัวเข้ามาและลักลอบเคลื่อนย้าย
แต่การพบการติดเชื้อจริงและประกาศเป็นโรคอุบัติใหม่ ตั้งแต่วันที่ 10 -31 ม.ค.นี้ พบโรค ASF ใน 21 จังหวัด จากเกษตรกร 32 คน ป่วยสะสม 431 ตัว ตาย 217 ตัว และทำลายสะสม 648 ตัว
ขณะที่การสำรวจเนื้อหมูในห้องเย็นทั่วประเทศ พบจำนวนเนื้อหมูสะสม วันที่ 20-30 ม.ค.ที่ผ่านมากว่า 22,000 ตัน คิดเป็นหมูมีชีวิตประมาณ 300,000 ตัว หรือสามารถบริโภคได้ 7 วัน
ด้านนายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) วิเคราะห์ราคาหมูผันผวนเกิดจากกระแสข่าว เพราะ3-4 เดือนก่อนหน้านี้ หมูหน้าฟาร์มราคาต่ำลงมากิโลกรัมละ 50 บาท เพราะรัฐบาลออกมาตรการเข้มงวดป้องกันโควิด-19 ผู้เลี้ยงต่างกังวลจึงเร่งขาย
เมื่อของในตลาดมากจึงราคาตก แต่เมื่อมีข่าวโรค ASF ตลาดมองว่าหมูจะลดลง จึงชะลอขาย แล้วคาดว่าช่วงตรุษจีนราคาจะสูง แต่เมื่อทุกคนมองในแนวเดียวกัน ทำเหมือนกัน ราคาจึงไม่สูงอย่างที่คาด
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาพิจารณาข้อเท็จจริงการระบาดโรค ASF ระบุว่า ต้องการค้นหาข้อเท็จจริงตั้งแต่อดีตของปัญหาโรค ASF ที่หลายฝ่ายให้ข้อมูลไม่ตรงกัน ทั้งฝ่ายวิชาการ รัฐบาล และเกษตรกร ก่อนนำไปสู่การออกแบบการบริหารจัดการ
ที่มีความน่าเป็นห่วงคือความมั่นคงด้านอาหารโปรตีน หากหมูไม่เพียงพอแล้วบริโภคเนื้อสัตว์ชนิดอื่น จะมีผลให้ราคาเนื้อสัตว์อื่นแพงขึ้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรอีสานเปิดเทคนิค "เลี้ยงหมู" ป้องกันโรคระบาด
ปากคำ! คนเลี้ยงหมูชิงขายทิ้งช่วงโรคระบาด ASF
นายกฯ ประเมินหมูตายร้อยละ 20 สั่งสอบสาเหตุ "หมูแพง"
กรมปศุสัตว์ เตรียมประกาศเขตโรคระบาด หากผลสอบหมู 10 ฟาร์มมีเชื้อ AFS