ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

บทวิเคราะห์ : 'บ้านใหญ่' : หมดยุคสมัย 'ผู้กำหนด'

การเมือง
21 ก.พ. 65
15:40
1,809
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : 'บ้านใหญ่' : หมดยุคสมัย 'ผู้กำหนด'
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เมื่อก่อน การเลือกตั้งแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะท้องถิ่นหรือระดับชาติ ใครๆ ก็ต้องจับตาหรือเงี่ยหูฟัง 'บ้านใหญ่' แต่ละจังหวัด จะเอาอย่างไร ส่งใครลง และสังกัดพรรคไหน

เพราะด้วยบารมีของการเป็น 'บ้านใหญ่' มีใครหรือจะกล้าหือเทียบชั้นบารมี แค่ขยับตัว หรือกล้าลงแข่งขัน ก็ต้องมีอันเสียวสันหลังวาบๆ แล้ว

'บ้านใหญ่' จึงเสียงดัง คนเกรงขาม เพราะสามารถกำหนดทิศทาง รวมไปกระทั่งเป็นเป้าหมายอันดับ 1 สำหรับพรรคการเมือง ที่ต้องส่งเทียบเชิญเข้าสังกัด บ่อยครั้งที่ระดับหัวหน้าพรรคหรือเจ้าของพรรค ต้องเดินทางไปเจรจาด้วยตัวเองถึงถิ่น

ขณะเดียวกันก็มีประมุข 'บ้านใหญ่' หลายคน มีคอนเน็คชั่นสายตรงถึงผู้มีอำนาจในพรรคการเมืองใหญ่ สะท้อนความแนบแน่นสัมพันธภาพ

ยิ่งระบบสังคมไทยเป็นแบบอุปถัมภ์ ชาวบ้านในพื้นที่มีอะไรเดือดร้อนก็ต้องอาศัย 'บ้านใหญ่' ผ่านหัวคะแนน หรือผู้นำท้องถิ่น แม้กระทั่งข้าราชการของรัฐ อย่างนายอำเภอ ผู้ว่าฯ ก็ยังต้องยอมสยบให้ 'บ้านใหญ่' เพื่อช่วยเป็นแรงส่ง ให้เกิดความก้าวหน้าในชีวิตการรับราชการ

แม้แต่ผู้ถือและบังคับใช้กฎหมาย อย่างผู้พิทักษ์สันติราษฎร์-ตำรวจ น้อยครั้งที่จะกล้าต่อกรกับ 'บ้านใหญ่' ด้วยเหตุผลเดียวกัน ขณะที่ระดับ 'บิ๊ก' ในส่วนกลาง ก็มักจะวิ่งเข้าหาผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ไม่ใช่เพื่อหวังให้สามารถทำงานรับใช้ประชาชนได้อย่างเต็มที่ คล่องตัว แต่เพื่อหวังค้ำเสถียรภาพเก้าอี้และผลประโยชน์ของตัวเองต่างหาก

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ยุคขวาพิฆาตซ้าย นกสีเหลืองถูกไล่เด็ดปีก แต่ 'บิ๊ก' สีกากีบางคน ลั่นดานล็อกเก้าอี้อธิบดีตำรวจไว้ได้อย่างเหนียวแน่น แม้จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านอำนาจเกิดขึ้นก็ตามที

แต่เมื่อเข็มนาฬิกาเดินวนไปซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยุคสมัยเปลี่ยนไป ผู้คนรุ่นใหม่ๆ ก็ไม่ได้ใส่ใจกับ 'บ้านใหญ่' เหมือนในอดีต บทบาทและการยอมรับเริ่มลดน้อยถอยลงเป็นลำดับ กระทั่ง gen ปัจจุบัน ส่วนใหญ่ไม่รู้จัก 'บ้านใหญ่' ด้วยซ้ำไป ลางเตือนภัยได้เริ่มแสดงให้เห็นในสนามเลือกตั้งหลายจังหวัดหลายตระกูลมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้

ตระกูลอังกินันทน์ 'บ้านใหญ่' เมืองเพชร ไม่มีส.ส.ของจังหวัดเพชรบุรี มาตั้งแต่ปี 2544 ปีเดียวกับ ตระกูลอัศวเหม แห่งจังหวัดสมุทรปราการ ที่หายไปจากสาระบบบส.ส. เพิ่งจะกลับมาแจ้งเกิดได้ใหม่ ในเลือกตั้งปี 2562

ตระกูลอดิเรกสาร บ้านใหญ่สระบุรี เป็นส.ส.ครั้งสุดท้ายต้องถอยหลังไปปี 2550 บางตระกูลแม้จะยังปักธงส.ส.ได้อยู่ แต่ก็สะบักสะบอมเลือดซิบ เช่น ตระกูลสะสมทรัพย์ แห่งจังหวัดนครปฐม

ขณะที่ ตระกูลคุณปลื้ม ไม่มีส.ส.ในจังหวัดชลบุรีเลย แม้ทายาทคนสำคัญ นายสนธยา คุณปลื้ม จะได้เป็นนายกฯ เมืองพัทยา แต่ก็มาจากมาตรา 44 ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ดี

จึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย หากจะมีปัญหาขัดแย้งรุนแรงภายในระหว่างนายสนธยา กับนายสุชาติ ชมกลิ่น อดีตเด็กในสังกัด 'บ้านใหญ่' เมืองชลฯ

ด้วยเหตุผลจากคำอธิบายของผู้ใหญ่ในพรรค พปชร.ว่า เพราะต้องการสร้างอาณาจักรของตัวเอง

หลังจากเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา นายสุชาติพาผู้สมัครของพรรคฝ่าด่านหินเข้าไปได้ถึง 4 คน (จาก 5 คนของพรรคพปชร.) แต่นายอิทธิพลสอบตกพร้อมทายาทจากตระกูลงามพิเชษฐ์ จึงอนุมานว่า เขาน่าจะมีความชอบธรรมในการคัดเลือกผู้สมัครในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ถือเป็นการหักหน้า 'บ้านใหญ่' ถึงขั้นมีวิวาทะตอบโต้กันในสื่อออนไลน์ และเปรียบเปรยเป็น'สุนัข'เลยทีเดียว

นายเอกชัย ไชยนุวัตร นักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์ ม.สยาม ให้ทัศนะว่า กรณี 'บ้านใหญ่' ชลบุรี สะท้อนภาพการเมืองในยุคสมัยที่ใครๆ ต่างต้องการอำนาจ และสะสมบารมีเมื่อถึงเวลา จึงอาจต้องแยกทางกันเดิน

ยังจะเป็นตัวอย่างสะท้อนว่า'บ้านใหญ่'จังหวัดไหนๆ ก็สามารถเป็น 'บ้านแตก' ได้ ถ้าไม่ระมัดระวังดูแลให้ดี หรืออาจต้องมี 'สวนกล้วย' เป็นของตัวเองด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการ 'แยกตัว'

'บ้านใหญ่' ที่เคยแข็งแกร่ง ตั้งตระหง่าน เป็นตัวเลือกของทั้งคนในพื้นที่และพรรคการเมืองใหญ่ กำลังผุกร่อนไปตามยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลงของผู้คน

คล้ายหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาที่ยังใช้ได้เสมอไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปนานสักแค่ไหน

ทุกสรรพสิ่งบนโลก ล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง