ตัวละครที่น่าสนใจและมีบทบาทสำคัญในความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน คือ อเลกซานเดอร์ ลูคาเชนโก ประธานาธิบดีเบลารุส ซึ่งนั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศมานานถึง 27 ปี นับตั้งแต่เบลารุสประกาศอิสรภาพ เมื่อปี 1994
การปกครองประเทศด้วยกฎเหล็กยาวนาน ทำให้ได้รับฉายาว่าผู้นำเผด็จการคนสุดท้ายแห่งยุโรป ซึ่งสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างเบลารุสกับรัสเซีย สะท้อนให้เห็นจากการจัดการซ้อมรบครั้งใหญ่ร่วมกันเพื่อข่มขวัญยูเครน
กองทัพรัสเซียและกองทัพเบลารุสเปิดการซ้อมรบร่วมมาตั้งแต่วันที่ 10-20 ก.พ.ที่ผ่านมา ผู้นำเบลารุสขยายเวลาซ้อมรบโดยไม่มีกำหนดและยอมให้รัสเซียประจำการกำลังพลกว่า 30,000 นาย นอกจากนี้เบลารุสยังเป็นจุดที่รัสเซียใช้เคลื่อนกำลังพลบุกข้ามพรมแดนเข้ามาทางตอนเหนือของยูเครน การเปิดทางให้รัสเซียประจำการกำลังพลและอาวุธ ตอกย้ำให้เห็นถึงความสนิทสนมของผู้นำเป็นอย่างดี
ความใกล้ชิดของ 2 ประเทศ ทำให้เกิดความกังวลว่ารัสเซียอาจใช้เบลารุสเป็นฐานประจำการขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ หลังจากเบลารุสจัดการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผลการลงประชามติชี้ให้เห็นว่า ร้อยละ 65.16 ของผู้ออกมาใช้สิทธิสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งการลงประชามติของเบลารุสครั้งนี้ถือเป็นการเปิดทางให้ประเทศกลับมาครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ได้
ย้อนกลับไปเมื่อปี 1994-1996 เบลารุส ยูเครน และคาซัคสถาน ยอมส่งมอบหัวรบนิวเคลียร์ที่มีอยู่ให้แก่รัสเซีย เพื่อแลกเปลี่ยนกับหลักประกันด้านความมั่นคงของประเทศเหล่านี้ ผู้นำเบลารุสประกาศพร้อมกลับมาติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ หากเพื่อนบ้านเอานิวเคลียร์มาตั้งใกล้พรมแดน ขณะที่การลงประชามติยังได้เปิดทางให้ลูคาเชนโกสามารถนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีต่อไปได้ถึงปี 2035 ด้วย
ผลการลงประชามติครั้งนี้เผชิญกระแสต่อต้านจากชาติตะวันตกและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน และความเคลื่อนไหวในของเบลารุสกำลังส่งแรงกระเพื่อมไปถึงสมาชิกนาโตในยุโรปตะวันออกโดยตรง
อ่านข่าวอื่นๆ
เริ่มแล้ว! ผู้แทน "ยูเครน-รัสเซีย" เปิดโต๊ะเจรจาหาทางออก
รัสเซียเดินหน้าบุก "กรุงเคียฟ-คาร์คีฟ" อียูส่งอาวุธหนุนยูเครน
ชาวยูเครนในไทย ประท้วงหน้าสถานทูตรัสเซียขอยุติสงคราม