อดีตส.ส.กรุงเทพฯ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตประธานสภาผู้แทนฯ อดีตรองนายกฯและอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง นายพิชัย รัตตกุล ถึงแก่อนิจกรรม ในวัยย่างเข้าปีที่ 97 เมื่อ 28 ก.พ.2565
เกิดวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2469 ที่กรุงเทพฯ สมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ปี 2501 และเป็นสมาชิกพรรคเดียวอย่างเหนียวแน่น ไม่เคยย้ายไปพรรคการเมืองอื่นเลย
เป็น ส.ส.กรุงเทพฯ ครั้งแรก ในการเลือกตั้งปี 2512 สมัยเดียวกับนายชวน หลีกภัย ในฐานะส.ส.หน้าใหม่ จ.ตรัง นายพิชัย เป็น 1 ใน 100 คน ที่ลงชื่อคัดค้านการขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของจอมพลถนอม กิตติขจร ช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 4 เมื่อปี 2525 ต่อจาก พ.อ.พิเศษ ถนัด คอมันตร์ เลือกตั้งปี 2529 นำพาพลพรรคประชาธิปัตย์กวาดที่นั่งส.ส.ได้ถึง 100 คน ชนะพรรคชาติไทย ที่มีพล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร เป็นหัวหน้าพรรค ได้ส.ส.64 คน และชนะพรรคกิจสังคม ที่มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค ได้ส.ส. 51 คน
แต่ได้เป็นเพียงรองนายกรัฐมนตรี เพราะผู้ที่ได้เป็นนายกฯ จากการส่งเทียบเชิญของพรรคร่วมรัฐบาล 4 พรรคขณะนั้น คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่เป็นนายกฯ มาตั้งแต่เลือกตั้ง 2522
การยุบสภาครั้งสุดท้ายของพล.อ.เปรม เมื่อปี 2531 สาเหตุสำคัญมาจากปัญหาภายในของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เกิดความขัดแย้งรุนแรง ระหว่างกลุ่มของนายพิชัย กับอดีตเลขาธิการพรรค นายวีระ มุสิกพงศ์ นำไปสู่การเกิดกบฎ “กลุ่ม 10 มกรา” ที่สืบเนื่องตั้งแต่การชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคกับนายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์
ก่อนแตกหักในวันประชุมสภาฯพิจารณาร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ที่ “กลุ่ม 10 มกรา” รวม 32 คนโหวตสวนรัฐบาล แม้รัฐบาลจะยังชนะ แต่รัฐมนตรี 16 คนจากพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งนายพิชัยได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการยื่นใบลาออกต่อ พล.อ.เปรม นำไปสู่การยุบสภาในวันเดียวกัน
เลือกตั้ง ปี 2531 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม 4 พรรค ยังรวมเสียงข้างมากได้ 210 เสียง จาก ส.ส.ทั้งหมด 357 เสียง
หัวหน้าพรรคทั้งหมด ทั้งพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทย และนายพิชัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา หัวหน้าพรรคกิจสังคม เดินทางไปพบ พล.อ.เปรม วันที่ 27 ก.ค. กล่าวเชิญ พล.อ.เปรม ให้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
แต่คำตอบกลับจาก "ป๋าเปรม" คือ “ผมพอแล้ว”