การโจมตีของรัสเซียตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดคลื่นผู้ลี้ภัยระลอกใหม่ขึ้นในแถบยุโรปตะวันออก โดยบรรยากาศบริเวณด่านพรมแดนระหว่างโปแลนด์กับยูเครน เต็มไปด้วยกลุ่มชาวยูเครนที่ลี้ภัยสงคราม การรอข้ามพรมแดนอาจใช้เวลานานหลายวัน เนื่องจากในฝั่งยูเครนมีประชาชนเข้าคิวรอเป็นจำนวนมาก
เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมาองค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยว่า มีชาวยูเครนกว่า 670,000 คน เดินทางไปยังประเทศปลายทาง โดยโปแลนด์รับผู้ลี้ภัยไปแล้วกว่า 377,000 คน รองลงมาคือ ฮังการี มอลโดวา สโลวาเกีย โรมาเนีย และเบลารุส
ทางการโปแลนด์เตรียมรถไฟที่ให้บริการทางการแพทย์ เพื่อขนส่งผู้บาดเจ็บชาวยูเครนไปรักษาตามโรงพยาบาล 1,230 แห่ง ยิ่งไปกว่านั้นยังมีผู้ลี้ภัยอีกไม่ต่ำกว่า 51,000 คน ได้ทยอยอพยพจากประเทศเหล่านี้ มุ่งหน้าต่อไปยังประเทศอื่นๆ ในยุโรป
ผู้ลี้ภัยได้รับแจ้งว่าไม่ต้องทำเอกสารเพื่อเดินทางเข้าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ควรจะมีหนังสือเดินทางภายในหรือต่างประเทศ สำหรับผู้ยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัยในยุโรปจะต้องเป็นพลเมืองยูเครน หรือบุคคลที่อาศัยอยู่ในยูเครนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งหลายประเทศเริ่มผ่อนปรนข้อจำกัดเปิดทางให้ผู้ลี้ภัยสงครามจากยูเครน สามารถอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงได้นานเท่าที่ต้องการ
องค์การสหประชาชาติ ประเมินว่า สงครามอาจทำให้มีผู้พลัดถิ่นอย่างน้อย 160,000 คน และตัวเลขอาจสูงแตะ 7 ล้านคน ส่วนชาวยูเครน 18 ล้านคน หรือร้อยละ 41 ของประชาชนทั้งประเทศที่มีกว่า 44 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากสงครามครั้งนี้
สหภาพยุโรปจะให้สิทธิผู้ลี้ภัยให้สามารถอาศัยและทำงานในประเทศสมาชิก 27 ประเทศ นาน 3 ปี โดยไม่ต้องยื่นเอกสาร ขณะที่ผู้ลี้ภัยจะได้รับสวัสดิการสังคม การเข้าถึงสิทธิในที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล รวมทั้งการศึกษาสำหรับเด็กด้วย
การขยับตัวในครั้งนี้ถือเป็นการใช้อำนาจตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวผู้ลี้ภัยของสหภาพยุโรปเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 1990 แม้ว่าวิกฤตผู้ลี้ภัยส่งแรงกระเพื่อมถึงหลายประเทศในยุโรป แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เห็นความเป็นเอกภาพมากขึ้นด้วย
อ่านข่าวอื่นๆ
"ยูเอ็น" คาดชาวยูเครนกว่า 500,000 คนหนีภัยออกนอกประเทศ
รัสเซียอ้างยึด "เมืองเคอร์สัน" เดินหน้ายิงถล่ม "เมืองคาร์คีฟ"
จับตา! 48 ชั่วโมง "รัสเซีย" เผด็จศึก หรือยุทธวิธีกองโจร "ยูเครน" ต้านอยู่