การเร่งเครื่องกฎหมายลูก 2 ฉบับให้เร็วขึ้น ตั้งแต่ดันเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภา ผ่านการรับหลักการในวาระที่ 1 ตั้งกรรมาธิการพิจารณาในช่วงเวลาปิดสมัยประชุม แทนการเปิดสมัยวิสามัญอย่างที่คาดการณ์ตั้งแต่แรก ถือว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดา
เพราะถ้าจะดูจากไทม์ไลน์คร่าวๆ กรรมาธิการวิสามัญชุดที่มีนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข จากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน น่าจะพิจารณาแล้วเสร็จ สามารถเสนอกลับเข้าสู่การประชุมร่วม 2 สภาได้ทันควัน เมื่อถึงประชุมสภาสมัยหน้า ปลายเดือนพ.ค.65
แม้จะมีข่าวความเห็นต่างเรื่องวิธีคิดคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ระหว่างพรรคการเมืองใหญ่ และพรรคขนาดกลางบางส่วน ที่อยากให้ใช้วิธีคิดคำนวณตามรัฐธรรมนูญ 2540
คือนำคะแนนรวมทั้งหมดจากทุกพรรคการเมือง หารด้วย 100 กับพรรคขนาดกลางอีกบางส่วน และพรรคขนาดเล็ก ที่ได้อานิสงส์จากระบบจัดสรรปันส่วนผสมในการเลือกตั้ง 2562 ตามรัฐธรรมนูญ 2560
ที่ต้องการให้ใช้วิธีคิดคำนวณแบบ Mixed Member Proportional (MMP) ที่ใช้ในประเทศประเทศเยอรมนี คือให้หารด้วย 500 (จำนวนส.ส.ที่มีทั้งหมด) แทนการหารด้วย 100
แต่สุดท้ายเชื่อว่า วิธีคิดคำนวณแบบที่เคยใช้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 คือหารด้วย 100 น่าจะเป็นฝ่ายมีชัย เรื่องจะไม่ซับซ้อน หรือเป็นประเด็นให้ถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันมาก เพื่อให้กฎหมายลูก เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา และผ่านได้ในราวเดือนกรกฎาคม 2565 หรือใกล้เคียง
เมื่อกฎหมายลูกผ่าน กระแสและการเคลื่อนไหวให้รัฐบาลยุบสภา เพื่อเลือกตั้งตามกติกาใหม่ น่าจะถูกจุดขึ้นได้ไม่ยาก และสามารถเป็นเหตุผลให้รัฐบาลต้องคืนอำนาจประชาธิปไตยให้กับประชาชน เพื่อเป็นเสียงสวรรค์ในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งต่อไปได้ ตามความเรียกร้องของฝ่ายค้านด้วย
ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจ หลังเหตุการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน กำลังก่อให้เกิดผลกระทบต่อนานาประเทศทั่วโลก และมีแนวโน้มจะรุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งจากวิกฤตน้ำมันและสินค้าเกษตร ที่ยูเครนและรัสเซียเป็นแหล่งผลิตรายใหญ่
จะบีบให้แต่ละประเทศ ต้องมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง เร่งหาวิธีรับมือแก้ไขเพื่อผ่อนปรนวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมทั้งประเทศไทย
เท่ากับการเลือกตั้งครั้งใหม่ สามารถมีเกิดขึ้นได้ในราวเดือนกันยายน หรือใกล้เคียง ตามกรอบเวลา 45-60 วันที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
หากไม่มีปัญหาหรือข้อพิพาทรุนแรงจนทำให้ผลการเลือกตั้งต้องยืดเยื้อออกไปแล้ว ในเดือนพฤศจิกายน อาจจะได้รัฐบาลชุดใหม่ ที่พร้อมจะเดินหน้าต่อจากรัฐบาลรักษาการ(รัฐบาลชุดปัจจุบัน) สำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค ตามที่มีการกำหนดไว้ล่วงหน้าได้โดยไม่สะดุด
เพียงแต่ขั้วอำนาจปัจจุบัน รวมทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ปัจจุบัน ต้องมั่นใจว่า จะได้กลับคืนสู่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง ในฐานะผู้ชนะศึกเลือกตั้ง
ถือเป็นการสานฝันที่เป็นจริง ทั้งการเป็นนายกฯเต็มตัว ที่ได้จัดประชุมเอเปค และสามารถไปต่อได้บนเก้าอี้นายกฯ บริหารขับเคลื่อนประเทศในฐานะนายกฯ ต่อไปอีกอย่างน้อย 1 สมัย
ณ สถานการณ์และแรงกดดันจากหลายทิศทาง แนวทางนี้ มีความเป็นไปได้สูงทีเดียว