จากกรณีศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีพบเด็กป่วยด้วยภาวะเมธฮีโมโกลบิน จำนวน 14 คน ใน 8 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เพชรบุรี สระบุรี ตรัง พะเยา สงขลา นครศรีธรรมราช และกาญจนบุรี โดยทั้งหมดกินไส้กรอกไม่มียี่ห้อ รายละเอียดฉลากไม่ครบถ้วน
เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2565 เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุว่า อย.ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ สืบหาสถานที่ผลิตไส้กรอก และเก็บตัวอย่างไส้กรอกทั่วประเทศทั้งสถานที่ผลิตและสถานที่จำหน่าย จำนวน 102 ตัวอย่าง ได้รับผลวิเคราะห์มาแล้ว 44 ตัวอย่าง ตกมาตรฐาน 22 ตัวอย่าง
นอกจากนี้ ยังพบมีการใช้เนื้อไก่แต่แสดงฉลากลวงให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าเป็นเนื้อหมูอีก 1 ตัวอย่าง ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดให้ใช้ไนไทรต์เป็นสารกันเสียได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมอาหาร ส่วนไนเทรต และกรดเบนโซอิก ไม่อนุญาตให้ใช้ในไส้กรอก หากฝ่าฝืนต้องโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และหากตรวจพบในปริมาณที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ จัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ แนะนำผู้บริโภคเลือกซื้อไส้กรอกที่มีฉลากแสดง เลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. มีชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต หรือ หมดอายุ หรือควรบริโภคก่อน ส่วนประกอบ และข้อมูลวัตถุเจือปนอาหาร น้ำหนักสุทธิ รวมถึงซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ
พร้อมย้ำไปยังผู้ผลิตว่า ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ขออนุญาตผลิตให้ถูกต้อง ควบคุมการผลิตให้เป็นไปตามคุณภาพมาตรฐาน GMP และแสดงฉลากตามที่กฎหมายกำหนด
สำหรับผู้ประกอบการผลิตไส้กรอกทั่วประเทศ อย.ได้จัดอบรม เรื่อง "ไนไทรต์และเบนโซเอต ใช้อย่างไรให้ปลอดภัยในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์" ในวันที่ 22 มีนาคม 2565 เวลา 09.30-12.00 น. ผ่านระบบ zoom และเฟซบุ๊ก ไลฟ์: FDA THAI อบรมฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหากพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน ขอให้ร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วน อย.1556 หรือ สสจ.ทั่วประเทศ