ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นิยาม "วางตัวเป็นกลาง" มุมมองรัสเซีย-ยูเครน โจทย์สำคัญเจรจา

ต่างประเทศ
28 มี.ค. 65
20:46
744
Logo Thai PBS
นิยาม "วางตัวเป็นกลาง" มุมมองรัสเซีย-ยูเครน โจทย์สำคัญเจรจา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แนวโน้มในการผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย-ยูเครน สะท้อนให้เห็นจากผู้นำยูเครนที่ส่งสัญญาณพร้อมยอมรับสถานะเป็นกลาง แต่ข้อแตกต่างในนิยามของการวางตัวเป็นกลางในมุมมองของรัสเซียกับยูเครน ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับการเจรจา

ผู้นำยูเครนพร้อมหารือเรื่องหลักประกันความมั่นคงและการวางตัวเป็นกลาง รวมทั้งสถานะรัฐปลอดนิวเคลียร์ แต่จะไม่หารือเกี่ยวกับการปลดอาวุธและการกำจัดระบอบนาซี ขณะที่การบรรลุข้อตกลงใดๆ ก็ตามจะต้องผ่านการลงประชามติและได้รับหลักประกันจากประเทศที่ 3 เป็นอันดับแรก

การวางตัวเป็นกลางไม่ร่วมเป็นสมาชิกนาโต ถือเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของรัสเซียในการถอนทหารออกจากยูเครน

สถานะเป็นกลางในเชิงกฎหมายระหว่างประเทศ หมายถึง การไม่มีส่วนร่วมในการทำสงครามกับประเทศอื่น และไม่ลงนามเข้าร่วมในความตกลง เพื่อการจัดตั้งระบบพันธมิตรด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ 

สถานะเป็นกลางอาจจะพิจารณาจากสนธิสัญญา ข้อตกลง รัฐธรรมนูญ หรือการดำเนินนโยบายของประเทศนั้นๆ ซึ่งประเทศในยุโรปที่เป็นกลางตามรัฐธรรมนูญ คือ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรียและมอลโดวา ทางตะวันตกของยูเครน

ผลจากนิยามนี้ หมายถึง ประเทศที่มีสถานะเป็นกลาง จะไม่มีฐานทัพของชาติอื่นตั้งอยู่ในดินแดนของตัวเอง แต่ประเทศที่เป็นกลางยังพัฒนาขีดความสามารถทางทหาร เนื่องจากการป้องกันตนเองเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน

โมเดลแบ่งประเทศ "เกาหลี" สู่ "ยูเครน"

ขณะที่แนวคิดในการแบ่งยูเครนออกเป็น 2 ส่วน เหมือนเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ อาจกลายเป็นปัจจัยบั่นทอนการเจรจาสันติภาพ

ประธานาธิบดีรัสเซียอาจใช้วิธีการกำหนดเส้นแบ่งระหว่างพื้นที่ภายใต้การควบคุมของยูเครน กับพื้นที่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย โดยรัสเซียจะพยายามจัดตั้งพื้นที่ภายใต้การยึดครองให้มีสถานะกึ่งรัฐ จัดตั้งรัฐบาลคู่ขนานและให้ประชาชนเลิกใช้สกุลเงินยูเครน

สัญญาณส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นจากผู้นำสาธารณรัฐลูฮันสค์ อ้างว่า อีกไม่นานจะจัดการลงประชามติเพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ขณะที่กระทรวงต่างประเทศยูเครน ย้ำว่า การลงประชามติใดๆ ในภาคตะวันออกของยูเครนถือเป็นโมฆะและไม่มีผลทางกฎหมาย

ส่วนการแบ่งเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ เป็นผลมาจากการแย่งชิงดินแดนระหว่างสหภาพโซเวียตกับสหรัฐฯ เหนือคาบสมุทรเกาหลี ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง โดยตลอด 3 ปีของการทำสงครามเกาหลี สหภาพโซเวียตหนุนหลังเกาหลีเหนือ ส่วนสหรัฐฯ หนุนหลังเกาหลีใต้

แม้ว่าเกาหลีเหนือลงนามข้อตกลงพักรบชั่วคราวกับสหรัฐฯ เพื่อยุติสงครามเกาหลีในเดือน ก.ค.1953 แต่สองเกาหลียังไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ ทำให้ทั้งสองฝั่งยังคงอยู่ในภาวะสงครามมาจนถึงทุกวันนี้

อ่านข่าวอื่นๆ

ผู้นำยูเครนพร้อมหารือ "สถานะเป็นกลาง" เจรจาสันติภาพกับรัสเซีย

"รัสเซีย" ใช้อาวุธพิสัยไกลยิงถล่มคลังเชื้อเพลิง "ยูเครน"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง