วันที่ 4 พ.ค.2565 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แนะนำวิธีฟื้นฟูร่างกายจากอาการ Long COVID ด้วยการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายในแต่ละระยะ ดังนี้
- สัปดาห์ที่ 1 เตรียมความพร้อมของร่างกาย ควรใช้การเดิน ฝึกการหายใจเข้า-ออกให้สุดแบบช้า ๆ ให้อยู่ในระดับไม่เหนื่อย หรือเหนื่อยเล็กน้อย
- สัปดาห์ที่ 2 ออกกำลังในระดับเบา เช่น การเล่นโยคะเบา ๆ การทำงานบ้านเบา ๆ และเพิ่มระยะเวลาเป็นวันละ 10-15 นาที และให้อยู่ในระดับรู้สึกเหนื่อยเพียงเล็กน้อย
- สัปดาห์ที่ 3 ออกกำลังในระดับปานกลาง เน้นการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างต่อเนื่อง เช่น การปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ วิ่งเหยาะ ๆ
- สัปดาห์ที่ 4 เพิ่มความซับซ้อนในการเคลื่อนไหว เช่น การวิ่งเปลี่ยนทิศทาง การวิ่งไปทางด้านข้าง และสามารถสลับวันในการออกกำลังกายได้ เพื่อไม่ให้ร่างกายอ่อนเพลีย
- สัปดาห์ที่ 5 ในระยะนี้สามารถกลับไปออกกำลังกายได้ตามปกติ และสามารถเพิ่มระดับความหนักของการออกกำลังได้เท่าที่สามารถทำได้
ทั้งนี้ หากรู้สึกอ่อนเพลีย หรืออ่อนล้าในวันถัดไป แนะนำให้พัก และลดระดับความหนักของการออกกำลังกายลง
เปิดแนวทางจัดตั้ง "คลินิกรักษา Long COVID"
นอกจากนี้ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่แนวทางการจัดตั้ง “คลินิกรักษาผู้ป่วย Long COVID” โดยแบ่งแนวทางการจัดการออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่ ด้านการให้บริการ, ด้านบุคลากรที่ให้บริการ, ระบบสารสนเทศในการดำเนินการ, การเข้าถึงระบบ ผลิตภัณฑ์ และบริการ, ระบบการเงินการคลัง และภาวะผู้นำการอภิบาล
สำหรับแนวทางการจัดตั้ง “คลินิกรักษาผู้ป่วย Long COVID” คือ การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการตั้งคลินิกรักษาผู้ป่วย Long COVID ขึ้นในโรงพยาบาลทุกระดับ โดยให้บริการแบบผู้ป่วยนอก ผ่านการนัดหมายการรับบริการหรือให้บริการผ่านระบบพบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ทั้งคลินิก Long COVID และคลินิกเสมือนจริง (Virtual clinic)
ในส่วนของรูปแบบคลินิกจะให้บริการแบบผู้ป่วยนอก โดยสถานที่และวันเวลานั้น ใช้การจัดตั้งในสถานพยาบาลทุกระดับ โดยเฉพาะหน่วยบริการระดับปฐมภูมิเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้สะดวกรวดเร็ว ซึ่งจะเปิด-ปิด ตามเวลาราชการ หรืออาจดำเนินการเฉพาะวันโดยเน้นระบบการนัดหมายล่วงหน้า
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง เช็กเบื้องต้น 200 อาการ "ลองโควิด"