ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

บทวิเคราะห์ : แค่ 3-5 พรรคมีโอกาสปักธง ส.ส.กรุงเทพฯ

การเมือง
1 มิ.ย. 65
13:58
405
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : แค่ 3-5 พรรคมีโอกาสปักธง ส.ส.กรุงเทพฯ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ผลพวงจากศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ และสมาชิกสภากรุงเทพฯหรือส.ก. จะมีผลแค่ไหนต่อการเมืองภาพใหญ่ รวมทั้งการเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพฯ ครั้งหน้า แม้กูรูหลายคน จะให้ทัศนะว่าคนเมืองกรุงเลือกผู้บริหารและตัวแทนท้องถิ่นต่างไปจากเลือกตั้ง ส.ส.

ในทางปฏิบัติไม่อาจปฏิเสธได้ทั้งหมดว่า จะไม่มีผลเลย เพราะโดยข้อเท็จจริง สามารถสะท้อนภาพทางการเมืองได้ในระดับหนึ่ง เมื่อดูจากคะแนนเลือกผู้ว่าฯ และคะแนน ส.ก.ที่ได้รับ แม้จะชี้ชัดทั้งหมดไม่ได้ เพราะมีหลายคนที่สมัครผู้ว่าฯ ในนามอิสระ ไม่ใช่สังกัดพรรคการเมือง แต่เป็นไปได้ว่า ได้ทั้งคะแนนนิยมส่วนตัว และคะแนนนิยมหรือนโยบายของพรรคประกอบกัน

อย่างเช่น นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ สามารถเข้าป้ายอันดับ 4 ด้วยคะแนน 230,455 คะแนน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. ได้รับเลือก 214,692 คะแนน และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ได้ 78,993 คะแนน

ขณะที่คะแนนผู้สมัคร ส.ก.ยังมีประเด็นแยกย่อยที่ต้องพิจารณาเป็นส่วนประกอบ เนื่องจากแบ่งตามเขตปกครองของกรุงเทพฯ คือ 50 เขต มี ส.ก.50 คน แต่หากแบ่งตามเขตเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งต่อไป จะมี ส.ส.เพียง 33 คนจาก 33 เขตเลือกตั้ง เท่ากับ 1 เขตเลือกตั้ง จะกินพื้นที่มากกว่าเขตปกครอง 1 เขต

ผลคะแนนที่ได้มาจะแตกต่างกัน อยู่ที่จำนวนผู้สมัครที่จะแย่งคะแนนในเขตเดียวกัน เช่น เขตบางรัก ผู้ชนะได้ไม่ถึง 4,000 คะแนน แต่บางเขต เช่น เขตสายไหม พรรคไทยสร้างไทย ได้มากถึง 44,000 คะแนน สูงกว่าคะแนน ส.ส.ที่ได้รับในหลายเขตเลือกตั้ง

ฉะนั้นแม้จะมีผู้สมัครจาก 5 พรรคการเมือง ที่ได้นั่งเก้าอี้ ส.ก.จากการเลือกตั้งเมื่อ 22 พฤษภาคม 2565 คือจากพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคไทยสร้างไทย รวมถึงผู้สมัครอิสระจากกลุ่มรักษ์กรุงเทพฯ

แต่ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นหลักประกันชัยชนะในการเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพฯ ครั้งหน้า เพราะเขตพื้นที่เลือกตั้งจะครอบคลุมเกินกว่าพื้นที่ที่ผู้สมัครของพรรค (หรือกลุ่ม) เป็นส.ก.อยู่ อีกทั้งบริบทและคะแนนนิยมทางการเมืองในช่วงเลือกตั้ง อาจเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันได้

จึงอาจมีเพียง 3-5 พรรคเท่านั้น ที่มีโอกาสยื้อแย่งปักธงแย่งส.ส.ในกรุงเทพฯ คือ พรรคเพื่อไทย ที่ได้ ส.ก.มากที่สุด 20 คน พรรคก้าวไกล ที่ได้ ส.ก.รองลงมา 14 คน และพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี ส.ก.9 คน

ขณะที่พรรคไทยสร้างไทย ซึ่งมีจุดขายอยู่ที่ คุณหญิงหน่อย สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ อดีตประธานภาคกรุงเทพฯ ตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชารัฐ ที่ชนะ ส.ก.พรรคละ 2 เขตเลือกตั้ง

จะต้องปรับกลยุทธ์ และเพิ่มดีกรีความเข้มข้นในการลงพื้นที่ หรือสร้างความประทับใจให้กับคนกรุงเทพฯ ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง มากกว่าช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ส.ก.อีกหลายเท่าตัว หากยังหวังจะแบ่ง ส.ส.กรุงเทพฯ

พรรคไทยสร้างไทย คุณหญิงสุดารัตน์ ย่อมต้องทุ่มเทเต็มที่ เพื่อรักษาสถานภาพการเป็น “เจ้าแม่เมืองหลวง” เอาไว้ให้ได้ หลังย้ายออกจากพรรคเพื่อไทย

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ อาจต้องปรับเปลี่ยนทั้งกลยุทธ์และ “จุดขาย” ใหม่ หลังจากเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 สร้างเซอร์ไพรส์ เป็นแชมป์สนามกรุงเทพฯ ได้ ส.ส.ถึง 12 คน และได้คะแนนเสียงเลือกตั้งจากคนกรุงเทพฯรวมเกือบ 800,000 เสียง หลังชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

นอกเหนือจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเก่าที่ตั้งแล้ว หรือพรรคใหม่อยู่ในระหว่างจัดตั้ง หากไม่ “เจ๋ง” จริง โอกาสปักธงแย่ง ส.ส.กรุงเทพฯ ยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง