การเมืองไทยก็ยังเดินตามรูปแบบเดิม ๆ ต่อไป คือการเจรจาต่อรอง เป็นข้อตกลงที่ซ่อนตัวอยู่หลังฉาก ขณะที่หน้าฉากก็เล่นกันตามบทอย่างจริง ๆ จัง ๆ ชนิดที่ถ้ามีประกวดรางวัลเหมือนแวดวงบันเทิง หลายคนเชือดเฉือนกันไม่ลง เพราะตีบทแตกกระจุยกระจาย
การเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทย ในปีกนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรค กับพรรคเล็กและที่รวมตัวในฐานะกลุ่ม 16 ที่มีนายพิเชษฐ์ สถิรชวาล เป็นผู้นำกลุ่ม รวมทั้ง ร.อ.ธรรมมนัส พรหมเผ่า ผู้นำตัวจริงของพรรคเศรษฐกิจไทย เป็นไปอย่างเข้มข้น ทั้งก่อนหน้านี้ และระหว่างการอภิปรายงบประมาณ ปี 66
โดยมีสาระที่มาจากการให้สัมภาษณ์สื่อของแกนนำเรื่องแรก คือจับมือร่วมกันในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลตามมาตรา 151 ซึ่งต้องมีการลงมติโหวตเสียง
จากนั้น มีสาระอีก 2 เรื่อง พ่วงเข้ามาในวงกินข้าวของตัวแทนจาก 3 ฝ่ายดังกล่าว ตั้งแต่เรื่องโครงการท่อส่งน้ำเขตเศรษฐกิจพิเศษหรืออีอีซี ที่บริษัท อีสท์วอเตอร์ฯ ที่ผูกขาดมานาน 30 ปี แพ้ประมูลให้กับ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง คู่แข่งหน้าใหม่
เรื่องร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯ ปี 66 และเรื่องกฎหมายลูก 2 ฉบับ โดยเฉพาะวิธีคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่พรรคเล็กยังพยายามดิ้นเฮือกสุดท้าย ให้หารด้วย 500 ไม่ใช้ 100
การเคลื่อนไหวแต่ละส่วน ล้วนมีเป้าหมายหลักของตนเอง กลุ่มพรรคเล็กหวังให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับกลุ่ม เพราะเป็นไปได้ที่จะเป็นตัวแปรว่าจะรัฐบาลจะไปต่อได้หรือไม่ ด้วยเสียงส.ส.ที่อ้างว่า มีประมาณ 20 เสียง หากเอนเอียงไปทางฝ่ายใด ฝ่ายนั้นก็มีโอกาสชนะ ทั้งนี้ทางกลุ่มพรรคเล็กประเมินออกในระดับหนึ่งว่า รัฐบาลก็แอบวิตกเรื่องเสียงสนับสนุนอยู่ในที
การเจรจาจึงถูกตั้งข้อสังเกต ทั้งในเรื่องต้องได้รับการดูแลจากรัฐบาล โดยไม่ปล่อยให้ต้องเดือดร้อนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งการเลือกตั้งต้องมีใช้ทุนรอน เรื่องโควตาในกรรมาธิการงบประมาณ
นอกจากโป่งจาก 64 เป็น 72 คนแล้ว ยังปรากฏพรรคเล็กไปมีโควตาอยู่ในครม.ด้วย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องวิธีคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยมีเป้าหมายให้รัฐบาลหรือพันธมิตรอย่าง ส.ว. ต้องช่วยออกแรงหนุนวิธีคิดด้วยวิธีหาร 500 แทนที่จะหารด้วย 100 อย่างที่แพ้โหวตในชั้นกรรมาธิการมาแล้ว
กลุ่ม ร.อ.ธรรมมนัส 16-18 เสียง ซึ่งมีความหลังอันปวดร้าวจากการถูกปลดออกจากครม.ของ ร.อ.ธรรมมนัส พรหมเผ่า หลังเสร็จศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเดือนกันยายน 64 จึงเป็นแค้นฝังหุ่นตลอดกาล
ความต้องการมากที่สุดคือการถอนแค้น โดยหวังให้รัฐบาล รวมทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ต้องรู้ซึ้งถึงความจำเป็นที่ต้องมีพรรคเศรษฐกิจไทยสำหรับเป็นตัวช่วย
ยิ่งมีข่าวการเดินทางไปสิงคโปร์ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการเดินทางไปที่เดียวกันของคนแดนไกล ยิ่งทำให้แกนนำรัฐบาลต้องปริวิตกมากขึ้น เพราะในอดีต ร.อ.ธรรมมนัส ก็เคยลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคเพื่อไทย เมื่อปี 2557 แต่กกต.ไม่รับรอง สะท้อนให้เห็นสัมพันธภาพอันดีกับคนแดนไกล
ส่วนพรรคเพื่อไทย ในสถานการณ์ที่มีการส่ง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร เข้าไปเป็นแกนนำสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อภาคประชาชน ทำให้แต่ละกลุ่มในพรรคเพื่อไทย ต้องพยายามสร้างผลงานให้โดดเด่น ให้ใครบางคนได้เห็นศักยภาพ และคอนเน็คชั่น
แม้กรณีการนัดกินข้าวกับกลุ่มพรรคเล็ก และพ่วงร.อ.ธรรมมนัส ภายใต้การขับเคลื่อนของนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร จะไม่ใช่มติพรรค และไม่ได้ขอความเห็นชอบจากพรรคก่อนก็ตาม
สิ่งที่พรรคเพื่อไทยได้จากการเคลื่อนไหวดังกล่าว คือช่วยโหมกระพือวาระพิจารณางบ 66 และศึกซักฟอกรัฐบาล ให้ดูเข้มข้นเร้าใจมากขึ้น ในความรู้สึกของผู้คนทั่วไป
การเจรจาต่อรองประสบมรรคผลทุกฝ่าย ทั้งพรรคเล็กและพรรคเศรษฐกิจไทย กลับคืนสู่ระเบียบกติกาที่วางไว้แล้ว ในอีกด้านหนึ่ง ได้สะท้อนบารมีที่ยังเข้มแข็งมากของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ล่าสุด พรรคพลังประชารัฐ เตรียมเปิดแคมเปญใหม่ ชู พล.อ.ประวิตรเป็นจุดขาย ด้วยข้อความว่า ...ไม่เคยรอที่จะลงมือทำ แก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน “พล.อ.ประวิตร” รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เดินหน้ายกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนเพื่อความยั่งยืน.....
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้สมาชิกจากพรรคฝ่ายค้าน โผล่มาช่วยอีกถึง 12 คน เท่ากับเปิดเส้นทางเดินที่สะดวกโยธิน นับจากนี้ไปของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ และผู้นำรัฐบาล ไม่ต้องพะวงทั้งในวาระ 2 หรือ 3 ของร่างพ.ร.บ.งบฯ ปี 66 หรือศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือแม้แต่เรื่องนายกฯ 8 ปี ที่อาจเห็นการตีความในเชิงบวกต่อ พล.อ.ประยุทธ์ เท่ากับเป็นสัญญาณ จะอยู่ได้ครบเทอม 4 ปี อย่างที่ “นิดาโพล” เปิดผลสำรวจล่าสุด
สะท้อนภาพ “การเมืองคือเรื่องผลประโยชน์” ทุกอย่างต้องมีการเจรจาต่อรอง อย่างชัดเจนชัดแจ้ง