ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สธ.ปลดล็อกภาชนะใส่อาหารทำจาก "พลาสติกรีไซเคิล" ได้

สิ่งแวดล้อม
21 มิ.ย. 65
09:34
2,448
Logo Thai PBS
สธ.ปลดล็อกภาชนะใส่อาหารทำจาก "พลาสติกรีไซเคิล" ได้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สัญญาณดี! กฎหมายปลดล็อกภาชนะใส่อาหารทำจาก "พลาสติกรีไซเคิล" ได้ ไทยพีบีเอสออนไลน์คุยกับ "เปรม" เจ้าของเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป กับโอกาสเมื่อขวดน้ำ PET ถูกรีไซเคิลให้กลับมาใส่น้ำได้อีกครั้ง แทนการกลายเป็นเสื้อผ้าที่อาจมีมากเกินความต้องการ

หลังจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 435) พ.ศ.2565 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก โดยให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 295) พ.ศ.2548 เรื่อง กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก ลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2548

นอกจากนี้ ในประกาศยังได้ปลดล็อกให้ใช้ “ภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก” ที่ทำขึ้นจากพลาสติกบริสุทธิ์ (virgin plastic) ที่ยังไม่ผ่านการใช้งาน รวมถึงพลาสติกแปรใช้ใหม่ (recycled plastic) ได้อีกด้วย

"เปรม พฤกษ์ทยานนท์" เจ้าของเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า กฎหมายฉบับก่อนระบุไว้ว่า "ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก" ทำให้ในประเทศไทยไม่สามารถใช้พลาสติกรีไซเคิลบรรจุอาหารหรือเครื่องดื่มได้

การขับเคลื่อนของกฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 3 ปีแล้ว เมื่อมีการประกาศออกใช้ออกมาจึงนับว่าเป็นสัญญาณดีสำหรับสิ่งแวดล้อม เพราะที่ผ่านมา ภาชนะบรรจุอาหารส่วนใหญ่จะเป็นขยะที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง และไม่เคยถูกนำกลับมาใช้งานเดิม

ยกตัวอย่างขวดน้ำ PET ที่ไม่เคยได้กลับมาใส่น้ำ แม้ว่าในไทยจะมีขยะขวดพลาสติกประเภท PET วันละหลายล้านขวด แต่ส่วนใหญ่ขวดเหล่านี้เมื่อใช้แล้วทิ้งกลับถูกรีไซเคิลเป็นเส้นใยโพลิเอสเตอร์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมแฟชัน เพื่อนำไปผลิตเสื้อผ้าแทน แต่หากนำขวดพลาสติกหลายล้านใบมาทำเสื้อผ้าทุกวัน ก็อาจมากเกินความต้องการได้

ขวด PET ก็ควรนำมารีไซเคิลเป็นขวด PET เพื่อใส่น้ำดื่ม เพราะเมื่อไปทำเสื้อผ้าก็เป็นการรีไซเคิลได้เพียงครั้งเดียว สุดท้ายเสื้อผ้าก็ถูกทิ้งไป และถูกจัดการด้วยการฝังกลบ

 

การรีไซเคิลขวดพลาสติกให้กลับมาเป็นขวดพลาสติกนั้น ก็เหมือนกับการรีไซเคิลขวดแก้ว หรืออลูมิเนียม ที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนของทรัพยากรอย่างแท้จริง ซึ่งเทคโนโลยีก็พัฒนาให้สามารถดำเนินการได้ตามมาตรฐานได้นานแล้ว ประกอบกับการควบคุมความปลอดภัยจากภาครัฐ จึงนับเป็นโอกาสดีหลังเกิดการปลดล็อกกฎหมาย

ขณะที่ภาคธุรกิจต่าง ๆ ในต่างประเทศ โดยเฉพาะบริษัทผลิตเครื่องดื่มระดับโลกที่ทำการตลาดด้วยการออกแคมเปญใช้วัสดุรีไซเคิลมากขึ้น หรือ บางประเทศในยุโรปมีการออกเป็นกฎหมายให้ผู้ประกอบการใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลเพื่อลดภาษีอีกด้วย 

ทั้งนี้ หากบริษัทเครื่องดื่มต่าง ๆ เลือกใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลมากขึ้น ความต้องการขยะขวดพลาสติกก็จะสูงขึ้นไปด้วย ซึ่งจะส่งผล ให้ราคาขายขวดพลาสติกสูงขึ้น ชาวบ้านหรือซาเล้งก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นและเก็บขยะขวดพลาสติกมากขึ้น ทำให้ปริมาณขยะลดลงไปด้วย

พลาสติกใช้ซ้ำ กับเทคโนโลยีรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์

นอกจากเป็นโอกาสสำหรับเหล่าคนเก็บของเก่าแล้ว ยังเป็นโอกาสสำหรับนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ด้วยเช่นกัน หนึ่งในนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า เพราะผู้บริโภคบางส่วนมักจะมองว่า พลาสติก คือ ผู้ร้าย สำหรับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เมื่อมีการปลดล็อกกฎหมายนี้จะทำให้คนเริ่มมองว่าการใช้พลาสติกไม่ได้ส่งผลกระทบต่อโลกมากนัก เพราะรีไซเคิลได้แล้ว

คนในวงการพลาสติกทราบกันดีว่า พลาสติกเกิดมาเพื่อให้ใช้ซ้ำได้ แต่คนนอกวงการไม่ได้มองแบบนี้ ซึ่งการรีไซเคิลขวด PET ได้ ถือเป็นก้าวแรกของการรีไซเคิลเลย เพราะจัดเป็นวัสดุชนิดเดียวจึงรีไซเคิลได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันซองบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีหลายชั้น หลายชนิด ก็กำลังมีแนวทางใหม่ ๆ มาตอบโจทย์การรีไซเคิลเพิ่มเติม ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง หลายบริษัทในประเทศไทยเองก็มีการศึกษาวิจัยกันมาจนใกล้ประสบความสำเร็จแล้วเช่นกัน

อ่านประกาศ สธ.ฉบับเต็ม : กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

โหลดฟรี แอปฯ Green2Get แยกขยะง่าย ๆ ด้วยการสแกนบาร์โคด

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง