"อาเบะโนมิกส์" เป็นกลยุทธ์ที่ประกอบด้วย 3 ลูกศร ได้แก่ การผ่อนคลายทางการเงินขนานใหญ่ การใช้จ่ายของภาครัฐ และการปฏิรูประบบการทำงาน
การผ่อนคลายทางการเงินขนานใหญ่ เป็นการใช้นโยบายการเงินแก้ปัญหาเงินฝืด โดยธนาคารกลางจะเพิ่มปริมาณเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ ผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาลคืน เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัว และเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2
ส่วนการใช้จ่ายของรัฐบาล ได้ตั้งวงเงินไว้ถึง 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อุโมงค์ สะพาน และถนนที่ทนทานต่อแผ่นดินไหว
ขณะที่การปฏิรูประบบการทำงาน เป็นยุทธศาสตร์การเติบโตที่มุ่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันกับนานาประเทศ ด้วยการลดภาษีบริษัท เปิดเสรีภาคเกษตร ปฏิรูปกฎระเบียบเกี่ยวกับพลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
แม้นโยบายดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาเงินฝืด, บริษัทเอกชนมีรายได้เพิ่มขึ้น, คนว่างงานลดลง และค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น แต่หลายฝ่ายกลับมองว่านโยบายนี้ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก จุดอ่อนของนโยบายคือรัฐบาลก่อหนี้สินเพิ่มจำนวนมาก โดยในช่วงแรกที่ดำเนินนโยบายสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง แต่เป็นระยะสั้นเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไปอัตราเงินเฟ้อยังต่ำ ไม่เป็นไปตามเป้า และยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนเอกชนที่กังวลเรื่องหนี้เสียได้
นักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งชี้ว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์จาก "อาเบะโนมิกส์" คือธุรกิจขนาดใหญ่ที่ทำกำไรได้มากขึ้น ไม่ใช่ประชาชนที่ค่าแรงสูงขึ้นจริง แต่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นมากกว่า
อ่านข่าวอื่นๆ
"ชินโสะ อาเบะ" อดีตนายกฯ ญี่ปุ่นถึงแก่อสัญกรรม
ตร.ญี่ปุ่นเผยผู้ต้องสงสัยยิง "อาเบะ" ไม่พอใจองค์กรแห่งหนึ่ง
ย้อนเส้นทาง "ชินโสะ อาเบะ" ครองตำแหน่งนายกฯญี่ปุ่นนานสุด 8 ปี