เมื่อวันที่ 11 ก.ค.2565นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์ว่า มีสถานพยาบาลเอกชนบางแห่งโฆษณาจำหน่ายแพ็กเกจประเมินอาการและยารักษาโรคโควิด-19 อย่างยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาโมลนูพิราเวียร์ นั้น
กรม สบส.จะตรวจสอบทั้งในส่วนของการขออนุมัติโฆษณาก่อนที่จะเผยแพร่ มาตรฐานการรักษาทางการแพทย์และที่มาของยารักษาโรคโควิด-19 ที่นำมาจัดจำหน่าย ห้ามนำยาที่ภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนมาจัดจำหน่ายโดยเด็ดขาด หากตรวจพบว่าสถานพยาบาลเอกชนลักลอบนำยาของภาครัฐมาจำหน่าย จะถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.สถานพยาบาล และ พ.ร.บ.ยา อีกทั้งแพทย์ผู้ให้บริการก็อาจจะถูกดำเนินการในฐานการกระทำผิดจริยธรรมทางการแพทย์
ขณะที่ ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า แม้ปัจจุบันภาครัฐจะมีนโยบายให้ผู้ป่วยโรคโควิด-19 เข้ารักษาพยาบาลกับสถานพยาบาลตามสิทธิของตน เช่น สิทธิบัตรทอง ให้เข้ารับการรักษากับหน่วยบริการปฐมภูมิ สถานพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ ร้านยาในโครงการ “เจอ แจก จบ” สิทธิประกันสังคม ให้เข้ารับการรักษากับสถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ ให้เข้ารับการรักษากับสถานพยาบาลภาครัฐ
แต่หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เข้าข่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสีเหลือง หรือสีแดง ก็สามารถเข้ารับการรักษาตามนโยบาย UCEP Plus กับสถานพยาบาลใดก็ได้ โดยสถานพยาบาลจะคัดกรองผู้ป่วย แยกระดับความฉุกเฉิน และแจ้งผลให้ญาติผู้ป่วยทราบ ก่อนนำเข้าสู่การรักษากับสถานพยาบาลของรัฐบาลหรือเอกชน โดยไม่มีการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจนกว่าผู้ป่วยจะหายจากโรคโควิด-19 เว้นแต่ผู้ป่วยหรือญาติไม่ประสงค์ที่จะให้ไปรักษาในสถานพยาบาลที่กำหนด หรือประสงค์ไปรักษากับสถานพยาบาลอื่น ก็จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง
ทั้งนี้ หากประชาชนพบการกระทำผิดกฎหมาย หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการรับริการกับโรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิก สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน 1426 กรม สบส.เพื่อตรวจสอบ และดำเนินการตามกฎหมาย
อ่านข่าวอื่นๆ
เช็ก 3 สัญญาณเตือน ก่อนเข้มมาตรการคุมโควิดระลอกใหม่
เตือนตลาดมืดลอบขายยา "โมลนูพิราเวียร์" เสี่ยงตับวายไตพัง
สธ.ชี้ข้อมูลเบื้องต้นพบโอมิครอน "BA.4-BA.5" รุนแรงกว่า BA.2