ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

โพล "โคแฟค" ระบุสื่อไทยเด่นด้านทำข่าว แต่ยังอ่อนจริยธรรม

สังคม
23 ก.ย. 65
08:15
733
Logo Thai PBS
โพล "โคแฟค" ระบุสื่อไทยเด่นด้านทำข่าว แต่ยังอ่อนจริยธรรม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
โพลเผยคนกรุงมองสื่อไทยเด่นด้านนำเสนอ-อ่อนจริยธรรม ถ้าเรียงลำดับ กระบวนการทำข่าวดีที่สุด รองลงมาเป็นความเชี่ยวชาญของตัวนักข่าว ความหลากหลายของแหล่งข่าว การเข้าใจสถานการณ์ ความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าว

วันที่ 21 ก.ย.2565 น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค (ประเทศไทย) แถลงผลการสำรวจ “ประเด็นความน่าเชื่อถือต่อสื่อ (Thailand Trusted Media Survey 2022)” ที่เวทีประชุมสุดยอด APAC Trusted Media Summit ประจำปีครั้งที่ 5ในประเทศไทย ซึ่งจัดโดย โคแฟค (ประเทศไทย) และ Google News Initiative (GNI)

การสำรวจครั้งนี้ มาจากแนวคิดในต่างประเทศ ซึ่งพบว่า ความเชื่อมั่น (Trust) ต่อสื่อนั้นตกต่ำลงทั่วโลก จึงนำตัวชี้วัด 8 ประการ ที่ต่างประเทศใช้วัดความน่าเชื่อถือของสื่อในไทยบ้าง แต่ด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากร ทำให้ไม่สามารถสำรวจกลุ่มตัวอย่างได้ขนาดใหญ่ จึงเลือกสำรวจในพื้นที่กรุงเทพ ฯ

มีกลุ่มตัวอย่าง 200 คน เพศชายและหญิงอย่างละครึ่งเท่ากัน อายุระหว่าง 15-60 ปี และพยายามให้ครอบคลุมมากที่สุดทั้งด้านการศึกษา อาชีพ สถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 28-31 ส.ค.2565

เมื่อดูค่าเฉลี่ยในภาพรวม จากคะแนนเต็ม 5 สื่อไทยได้อยู่ที่ 3.22 ถือว่าไม่เลวร้าย โดยด้านกระบวนการทำข่าว (Methods) เป็นด้านที่สื่อไทยได้คะแนนมากที่สุดคือ 3.42 ซึ่งหมายถึง กระบวนการทำข่าวมีความน่าสนใจ เร้าใจหรือแปลกใหม่ แต่ในด้านที่ได้คะแนนน้อยที่สุด คือความโปร่งใสและมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมสื่อ (Best Practices) ได้เพียง 2.91 เท่านั้น สะท้อนภาพความจำเป็นในการปรับปรุงเพื่อสร้างความเชื่อมั่น

เมื่อดูเป็นรายด้าน เริ่มตั้งแต่ 1.กระบวนการทำข่าว (Methods) แม้จะได้คะแนนมากที่สุด (3.42 จาก 5 คะแนน) ในทั้งหมด 8 ด้าน แต่ก็มีเสียงสะท้อนว่า หลายอย่างเป็นสิ่งเดิม ๆ ที่ทำกันอยู่แล้ว (The same old things) ซึ่งรวมถึงปัญหาเดิม ๆ เช่น ไม่มีที่มาของแหล่งข่าว

2.ความเชี่ยวชาญของนักข่าว (Journalist Expertise) อยู่ในอันดับ 2 (3.38 จาก 5 คะแนน) แต่ก็พบภาพความไม่เชื่อมั่นต่อสื่อในด้านนี้ โดยเฉพาะข่าวที่เกี่ยวกับการเมือง ที่นำเสนอแบบไม่สมบูรณ์ ไปจนถึงขั้นที่บางครั้งก็นำเสนอข่าวลวง

3.เสียงที่หลากหลาย (Diverse Voices) มาเป็นอันดับ 3 (3.36 จาก 5 คะแนน) ประเด็นนี้มีข้อสังเกตจากกลุ่มตัวอย่าง เช่น เสนอข่าวในเชิงบวกสนับสนุนรัฐอย่างเดียว หรือไม่ก็เสนอข้อมูลด้านเดียวของอีกฝ่ายหนึ่ง รัฐบาลและผู้มีอิทธิพลยังเป็นกลุ่มหลักที่พื้นที่ในสื่อ (Spotlight)

4.เข้าใจสถานการณ์ในพื้นที่ (Locally Sourced) อยู่ในอันดับ 4 (3.27 จาก 5 คะแนน) หมายถึงลงพื้นที่ไปทำข่าวแล้วเข้าใจพื้นที่นั้นหรือไม่ มีข้อสังเกตเรื่องความไม่สมบูรณ์ของข่าวจากหลายปัจจัย เช่น ถูกแทรกแซงจากผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ หรือไปนำข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตมานำเสนอต่อโดยไม่ได้ตรวจสอบก่อน อาทิ ข่าวปืนลั่นในห้องเรียนที่ตอนแรกนำเสนอกันว่าแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ระเบิด

5.การอ้างอิง (Reference) อยู่ในอันดับ 5 (3.26 จาก 5 คะแนน) ในภาพรวมนั้นอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง แต่ตัวชี้วัดย่อยเรื่องมีการเช็ครายละเอียดและความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าวก่อนการนำเสนอข่าว พบว่าได้คะแนนค่อนข้างต่ำ (2.98 จาก 5 คะแนน) ซึ่งจริง ๆ แล้วก่อนนำเสนอเป็นข่าวควรตรวจสอบกันถึง 3 ชั้น เพียงแต่เมื่อต้องแข่งขันกับความเร็วทำให้ลดขั้นตอนส่วนนี้ลง

เช่น ข่าวปืนลั่นในห้องเรียนที่ตอนแรกนำเสนอกันว่าแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ระเบิด เบื้องต้นอาจสอบถามเพียงผู้สื่อข่าวในพื้นที่ แต่ยังไม่ได้สอบถามผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ นอกจากนั้นยังมีข้อจำกัดเรื่องแหล่งข่าวบางรายเข้าถึงยาก กลายเป็นข้อจำกัดที่สุดท้ายสื่อก็ต้องไปหาแหล่งข่าวเดิม ๆ รวมถึงมีข้อสังเกตด้วยว่า สื่อมีการเซ็นเซอร์ตนเอง ไม่นำเสนอข่าวเพราะกลัวผลกระทบทางกฎหมายที่จะตามมา

6.ความรู้ความเข้าใจ (Labels) อยู่ในอันดับ 6 (3.25 จาก 5 คะแนน) หมายถึงเข้าใจข่าวที่จะนำเสนอ รวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่งและหลายมุมมอง มีความชัดเจนและมีคุณภาพ ข้อนี้ตัวชี้วัดย่อยเรื่องความโปร่งใส ได้คะแนนน้อยที่สุด (2.33 จาก 5 คะแนน) สะท้อนความรู้สึกอึมครึมและไม่ชอบมาพากลที่กลุ่มตัวอย่างมองสื่อ ข้อท้วงติง เช่น สื่อมักเสนอข่าวตามกระแส เนื้อหาไม่ชัดเจน ขาดประสบการณ์ในการนำเสนอข่าวที่รอบด้านและเป็นมืออาชีพ

7.รับฟังเสียงผู้บริโภคสื่อและประชาชน (Actionable Feedback) มาเป็นอันดับ 7 (3.00 จาก 5 คะแนน) ในภาพรวมมีการเชิญกลุ่มคนที่หลากหลายร่วมแสดงความคิดเห็น แต่จุดที่ได้รับข้อเสนอแนะว่าควรปรับปรุง คือเมื่อเกิดกรณีที่สื่อถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ การออกมายอมรับความผิดพลาด ขอโทษและแก้ไขยังช้าและน้อยเกินไป สุดท้ายคือ 8.ความโปร่งใสและมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมสื่อ (Best Practices) เป็นด้านที่ได้คะแนนรั้งท้ายจากทั้งหมด 8 ด้าน (2.91 จาก 5 คะแนน) โดยเฉพาะตัวชี้วัดย่อยเรื่องความเป็นอิสระในการนำเสนอข่าว ได้เพียง 1.83 จาก 5 คะแนนเท่านั้น

Best Practices ที่ได้คะแนนน้อย เพราะปัญหาส่วนหนึ่งมาจากคิดว่าสื่อไม่มีความเป็นกลาง ขาดความเป็นอิสระในการเสนอข่าว เพราะว่าบางทีเสนอข่าวแต่ด้านเดียวโดยเฉพาะจากฝ่ายรัฐบาล หรือถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจในสังคม นักการเมือง ผู้มีชื่อเสียง คนร่ำรวย แล้วก็รวมถึงกฎหมาย ก็จะเป็นการเซ็นเซอร์ตัวเอง

น.ส.สุภิญญา กล่าวในตอนท้ายว่า การสำรวจครั้งนี้เป็นผลวิจัยเล็ก ๆ เพื่อจะมานำเสนอในงาน แต่ก็น่าจะสะท้อนอะไรบางอย่างที่สื่ออาจนำไปปรับปรุงและพัฒนาได้ และหากมีโอกาสก็อยากขยายการสำรวจไปยังจังหวัดอื่น ๆ บ้าง

เพราะครั้งนี้เป็นเพียงกลุ่มตัวอย่าง 200 คน และอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯ ซึ่งอาจไม่สะท้อนภาพทั้งหมด แต่ก็พอทำให้เห็น และอยากให้สื่อนำ 8 ตัวชี้วัดข้างต้นไปเป็นเกณฑ์ในการทำงานของตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพและความเป็นมืออาชีพของสื่อต่อไป และทำให้เกิดสื่อที่สังคมเชื่อใจหรือไว้ใจได้ (Trusted Media) มากขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง