ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักวิชาการ มอง 5 ภัยสิ่งแวดล้อม คุกคาม "แม่น้ำโขง"

ภัยพิบัติ
21 ต.ค. 65
18:03
2,749
Logo Thai PBS
นักวิชาการ มอง 5 ภัยสิ่งแวดล้อม คุกคาม "แม่น้ำโขง"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ" ผู้เชี่ยวชาญและติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขง เปิด 5 ภัยคุกคามแม่น้ำโขง เขื่อน ตลิ่งพัง โครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล รัฐ-นักการเมืองไม่เข้าใจปัญหา โครงการระเบิดแก่ง กระทบนิเวศและวิถีชีวิต

จากกรณี "ภาคิน คำวิลัยศักดิ์" หรือโตโน่ เตรียมทำกิจกรรม "1 คนว่าย หลายคนให้ " ว่ายน้ำข้ามโขงไปกลับระหว่าง 2 ประเทศ ไทย-ลาว ระยะทางกว่า 15 กิโลเมตร ในวันพรุ่งนี้ (22 ต.ค.) เพื่อรับบริจาคเงินสนับสนุนอุปกรณ์การแพทย์ให้โรงพยาบาล จนเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมและเป็นกังวลถึงความปลอดภัย

โตโน่เคยทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ดำน้ำเก็บขยะทะเล ครั้งนี้จึงเกิดการเรียกร้องจากนักวิชาการอย่าง "ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ" อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.มหาสารคาม ผู้เชี่ยวชาญและติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขง ที่ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก Chainarong Setthachua ว่า "คุณโตโน่บอกว่าให้ดูแลสายน้ำโขง เพราะเป็นสายน้ำที่ให้ชีวิต ให้อาชีพ ให้เงิน และยินดีจะทำทุกอย่าง ช่วยคัดค้านเขื่อนหน่อยครับ"

 

"แม่น้ำโขงโคม่า มีแต่ทำพูดว่ารักแม่น้ำโขง อย่าทิ้งขยะ ดูโรแมนติก แต่ไม่ได้ดูถึงปัญหาใหญ่เชิงโครงสร้าง" ผศ.ดร.ไชยณรงค์ ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ ถึง 5 ปัญหาสิ่งแวดล้อม คุกคาม "แม่น้ำโขง" ที่ไหลผ่าน 6 ประเทศ เขามองว่าประเทศต้นน้ำอย่างจีน ลาว ไทย ตักตวงประโยชน์จากแม่น้ำโขงโดยไม่คำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ตามมา ทำให้ 60 ล้านคนในลุ่มน้ำโขง ทั้งคนชายขอบ ชาวไร่ ชาวนา ประมงพื้นบ้าน ต้องแบกรับภาระปัญหานี้


"เขื่อน" ต้นตอหลากปัญหา

เขื่อนกั้นแม่น้ำโขง แบ่งเป็น 2 ชุด คือ เขื่อนที่สร้างบริเวณแม่น้ำโขงตอนบน จีนสร้างไปแล้ว 11 เขื่อน ทำให้น้ำถูกกักอยู่ในเขื่อนจีนเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และเมียนมาบางส่วน ซึ่งเขื่อนจีนกระทบต่อแม่น้ำโขงใน 3 อำเภอ ของ จ.เชียงราย

เขื่อนในพื้นที่แม่น้ำโขงตอนล่างในประเทศลาว เขื่อนไซยะบุรีสร้างโดยทุนไทย อยู่เหนือเชียงคาน ในแขวงไซยะบุรี ของลาว มีผลกระทบค่อนข้างมากต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพของลุ่มน้ำโขง น้ำขึ้นลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ หน้าฝนบางครั้งก็เป็นหน้าแล้ง หน้าแล้งกลายเป็นน้ำท่วม รวมทั้งกระทบต่อการสร้างอาชีพของคนในพื้นที่ ไม่มีปลาให้จับ ทำเกษตรริมโขงไม่ได้, เขื่อนดอนสะโฮง แขวงจำปาสัก ก่อนแม่น้ำโขงไหลลงสู่กัมพูชา ส่งผลให้ปลาอพยพขึ้นมาจากแม่น้ำโขงไม่ได้

น้ำโขงแห้ง ทำให้แม่น้ำสาขาไหลลงสู่แม่น้ำโขงเร็วขึ้น นำมาซึ่งความแห้งแล้งในอนุภูมิภาคนี้ เป็นปัญหาใหญ่มาก


โครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล

โครงการผันน้ำจากแม่น้ำโขงมาลงภาคอีสาน อ้างเพื่อการชลประทาน โดยจุดผันน้ำอยู่ท้ายเขื่อนไซยะบุรีที่ไม่มีความแน่นอน และไม่ชัดว่ามีน้ำให้ผันหรือไม่ แต่ระยะแรกของโครงการใช้งบประมาณไปแล้วมหาศาลแสนกว่าล้านบาท ซึ่งคนลุ่มน้ำโขงถูกละเมิดสิทธิจากการแย่งชิงน้ำ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะพบปัญหาดินเค็มตามมา เพราะเต็มไปด้วยแหล่งเกลือใต้ดิน

อีสานไม่ได้ขาดแคลนน้ำถึงขนาดต้องทำโครงการผันน้ำ เพราะมีน้ำเหลือเฟื้อ หน้าฝนท่วมด้วยซ้ำ ถ้าจัดการน้ำภายในประเทศให้ดีก็จะดีกว่าการลงทุนมหาศาล

น้ำขึ้น ๆ ลง ๆ - น้ำหิวตะกอน ต้นตอตลิ่งพังทลาย

การระบายน้ำในเขื่อนที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ โดยเฉพาะเขื่อนไซยะบุรี ขึ้นอยู่กับความต้องการไฟฟ้า ช่วงที่พีคจะมีการปิดเขื่อน ทำให้น้ำโขงขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นปัญหาทำให้ตลิ่งพัง และเกิดปรากฎการณ์น้ำหิวตะกอน เป็นสีครามเหมือนน้ำทะเล ดึงชายฝั่งลงมาจนตลิ่ง เพราะน้ำปล่อยจากเขื่อนเป็นน้ำที่ไม่มีตะกอน ไม่มีแร่ธาตุที่สำคัญต่อสัตว์น้ำ พร้อมยกตัวอย่างพื้นที่บ้านภูเขาทอง ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย ตลิ่งพังเป็นแทบ บ้านเรือนชาวบ้านพังเสียหาย


รัฐ-นักการเมือง ไม่เข้าใจปัญหาภาคอีสาน-ลุ่มน้ำโขง

ภาครัฐ และนักการเมือง อาจไม่ได้เห็นความสำคัญของแม่น้ำโขง คิดเพียงเป็นเส้นแบ่งเขตแดน แต่คนไทยจำนวนมากทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องพึ่งพาแม่น้ำโขงโดยตรง รวมทั้งแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ลุ่มน้ำสงคราม ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล ส่งผลให้การพัฒนาแม่น้ำโขงถูกมองเพียงเรื่องผลประโยชน์ อย่างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า

โครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงจากจีนถึงหลวงพระบาง

โครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงจากจีนถึงหลวงพระบางของลาว เป็นโครงการร่วม 4 ประเทศ จีน เมียนมา ลาว ไทย เพื่อการเดินทางเรือเชิงพาณิชย์ ทำให้จีนขนสินค้าลงมาขายในลุ่มน้ำโขงตอนล่างได้ง่ายขึ้น และทุนไทยได้ประโยชน์จากการส่งสินค้าไปจีน ขณะนี้โครงการดังกล่าวได้ระเบิดไปแล้วในเฟสแรก ทำให้แม่น้ำโขงกลายเป็นคลอง และน้ำที่ออกจากเขื่อนจิ่งหงของจีนไหลลงด้านล่างอย่างรวดเร็ว กระทบระบบนิเวศและตลิ่งพังทลาย ต้องใช้งบประมาณสร้างพนังกั้นน้ำที่กระทบนิเวศซ้ำ

การระเบิดแก่งทำให้ระบบนิเวศ เพราะแก่งเหล่านั้นคือบ้านที่อยู่อาศัยของปลา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง