บทวิเคราะห์ : เลือกตั้งภาคใต้ไม่ง่ายดังคิด

การเมือง
26 ต.ค. 65
15:54
246
Logo Thai PBS
บทวิเคราะห์ : เลือกตั้งภาคใต้ไม่ง่ายดังคิด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

หลายพรรค ทั้งพรรคเก่าพรรคใหม่ หวังปักธง ส.ส.ในสนามเลือกตั้งภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็น “แชมป์เก่า” พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคสร้างอนาคตไทย พรรคประชาชาติ ยังไม่นับพรรคเล็กพรรคน้อยอีกหลายพรรค

อาจเนื่องจากเห็นว่า พื้นที่ภาคใต้ซึ่งเดิมเป็นสนามผูกขาดของพรรคประชาธิปัตย์ กลับโดนตีแตกกระเจิดกระเจิงในการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 62 ทั้งพรรคพลังประชารัฐ ที่เพิ่งส่งผู้สมัครส.ส.ครั้งแรก แต่แจ้งเกิดได้ถึง 13 คน พรรคภูมิใจไทย 8 คน ยังมีพรรคประชาชาติ 6 คน ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

สะท้อนทั้งคะแนนนิยมพรรคประชาธิปัตย์ลดต่ำลง คะแนนนิยมผู้นำพรรคอย่าง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ ถดถอย เกิดปัญหาความเป็นเอกภาพภายในพรรค ซึ่งสะท้อนออกด้วยความเคลื่อนไหวกดดันของกลุ่มคลื่นใต้น้ำ

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากพรรคภูมิใจไทยประกาศจะปักธง ส.ส.เพิ่มอย่างน้อยเป็น 20 คน พรรคประชาชาติ จะมี ส.ส.เพิ่มเป็น 10 คน พรรคพลังประชารัฐก็มั่นใจจะได้มากปัจจุบัน 14 คน พรรคสร้างอนาคตไทย ก็เปิดเวทีชูวิสัยทัศน์นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อ้างว่า ถูกใจกลุ่มนักธุรกิจในภาคใต้ทั้งแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ก็มั่นใจแจ้งเกิดส.ส.ได้แน่ ๆ

แต่ผลของนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่ออกมาล่าสุด เมื่อ 23 ตุลาคม ที่ผ่านมา เป็นภาพสะท้อนว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่พรรคการเมืองต่าง ๆ หวังจะแจ้งเกิดปักธง ส.ส.ภาคใต้ ได้อย่างที่คาดหวัง

บุคคลที่คนภาคใต้สนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี อันดับ 1 ร้อยละ 23.94 เป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันดับ 2 ร้อยละ 13.24 เป็น น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย

อันดับ 3 ร้อยละ 12.79 ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 4 ร้อยละ 11.24 เป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล อันดับ 5 ร้อยละ 6.14 เป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส พรรคเสรีรวมไทย อันดับ 6 ร้อยละ 5.95 เป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พรรคประชาธิปัตย์ ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล พรรคภูมิใจไทย อยู่อันดับ 9 ร้อยละ 4

ขณะที่ ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ยังครองอันดับ 1 ร้อยละ 27 แต่ที่ตามมาอันดับ 2 กลับเป็นพรรคเพื่อไทย อยู่ที่ประมาณร้อยละ 15 ทั้งที่พรรคเพื่อไทย ไม่เคยแจ้งเกิด ส.ส.เขตในภาคใต้ได้เลย แต่ครั้งนี้ กลับติดอันดับ 2 เท่ากับปลุกความหวังมีสิทธิ์ได้ลุ้นส.ส. อย่างน้อยก็ระบบบัญชีรายชื่อ

ส่วนอันดับ 3-6 สลับกันไปมาระหว่างยังไม่ได้ตัดสินใจ กับพรรคพลังประชารัฐ พรรคก้าวไกล และพรรคภูมิใจไทย เท่ากับโอกาสลดหลั่นกันตามลำดับ แต่เมื่อดูจากความเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมา กลับชัดเจนว่า นักการเมืองกลับแตกต่างจากประชาชนกลุ่มตัวอย่างจากโพล เพราะเลือกเข้าพรรคภูมิใจไทยเป็นอันดับแรก ๆ

ส่วนของจริงในทางปฏิบัติจะเป็นอย่างไร อาจต้องรอพิสูจน์ในวันเลือกตั้งจริงอีกที

วิเคราะห์โดย : ประจักษ์ มะวงศ์สา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง