ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ภาครัฐ-เอกชนขอนแก่น จับมือแก้ปัญหาวิกฤตการศึกษา

สังคม
16 พ.ย. 65
14:00
245
Logo Thai PBS
ภาครัฐ-เอกชนขอนแก่น จับมือแก้ปัญหาวิกฤตการศึกษา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ภาครัฐ-เอกชน จ.ขอนแก่น ลงนามบันทึกข้อตกลงขยายความร่วมมือการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ให้การช่วยเหลือเด็กยากจนและยากจนพิเศษครอบคลุมทุกด้าน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่

ความสำเร็จในการช่วยเหลือ ด.ญ.ดารุณี หวานเหย อายุ 14 ปี ที่อยู่ในครอบครัวยากจนพิเศษ ทั้งด้านการศึกษา ที่อยู่อาศัย สุขภาพ และชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัว ที่มาจากความร่วมมือของภาคีขอนแก่น เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ที่ทำให้เกิดโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในจังหวัดขอนแก่น

ข้อมูลจากระบบฐานข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ขอนแก่นมีปัญหาเด็กยากจนและยากจนพิเศษรุนแรงเป็นอันดับ 6 ของประเทศ วันนี้ (16 พ.ย.2565) หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนจึงร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำใน จ.ขอนแก่น

มีเป้าหมายเพื่อพัฒนากลไกความร่วมมือของหน่วยงานระดับพื้นที่ พัฒนาฐานข้อมูลเด็กยากจนและยากจนพิเศษ พัฒนารูปแบบนวัตกรรมดูแลเด็กกลุ่มเป้าหมาย และพัฒนารูปแบบการรณรงค์ช่วยเหลือเด็ก ซึ่งไม่ใช่แค่การช่วยไม่ให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา แต่เป็นการช่วยเหลือรอบด้าน ทั้งการศึกษา สุขภาพ และชีวิตความเป็นอยู่

นายพันธ์เทพ เสาโกศล รองผู้ว่าฯ ขอนแก่น กล่าวว่า โครงการนี้ทำมาแล้ว 3 ปี แต่ยังมีตัวเลขเด็กยากจนก็ยังสูงอยู่ ซึ่งทุกหน่วยในจังหวัดก็พยายามทำงานร่วมกัน เพื่อลดจำนวนเด็กยากจนและยากจนพิเศษให้ได้มากที่สุด และไม่ใช่แค่การช่วยเหลือแค่ตัวเด็ก แต่จะช่วยไปให้ถึงครอบครัวเพื่อให้คุณภาพชีวิตของทุกคนดีขึ้น ซึ่งนี่จะเกิดผลที่ยั่งยืน

ด้านนายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ขอนแก่นเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งในเรื่องของกลไกภาครัฐ แต่ความท้าทายในเรื่องการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ คือมีเด็กที่บางทีภาครัฐมองไม่เห็น

ดังนั้น การดึงภาคประชาสังคม ภาคเอกชน เข้ามาร่วมกันทำงาน จึงเป็นโจทย์ท้าทายของขอนแก่นว่าจะทำอย่างไร ให้เห็นเด็กกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น

อะไรบ้างที่จะทำให้การเดินนี้แข็งแรงขึ้น ข้อที่หนึ่ง เรื่องของข้อมูลเด็ก ตอนนี้มีข้อมูลเด็กในมือภาครัฐดีพอสมควร แต่ยังขาดข้อมูลเด็กที่เป็นรอยต่อในช่วงปฐมวัยก่อนที่จะเข้าสู่การศึกษาภาคบังคับ เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาแล้ว เด็กที่ย้ายถิ่นตามพ่อแม่เข้ามาในขอนแก่น เรื่องข้อมูลก็เลยเป็นเรื่องที่ควรจะเติมเข้ามาในงานภาครัฐ

นอกจากนี้ ขอนแก่นจะต้องมีแผนการทำงานร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ เพื่อจะทำให้เห็นว่าจะสามารถใช้ทรัพยากรอะไร ไปสู่เด็กกลุ่มไหน ในช่วงเวลาใด และอีกส่วนคือการมีกองทุนของของแก่นเอง เพื่อให้มีทรัพยากรเพียงพอที่พร้อมจะทำงานได้เลย ไม่ต้องรอเงินจากภายนอกเข้ามาเติม ซึ่งจริงๆ แล้วขอนแก่นก็มีทรัพยากรเยอะอยู่แล้ว รวมทั้งมีภาคเอกชนที่ถือว่าแข็งแรงทีเดียว

ถ้ามีเจ้าภาพกลางร่วมกัน มีระบบข้อมูล มีแผนแล้ว สามารถระดมทรัพยากรเข้ามา เชื่อว่าสถานการณ์การศึกษาของขอนแก่น คนขอนแก่นจะดูแลได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งคนภายนอกเลย

ส่วนเป้าหมายการช่วยเหลือเด็กยากจนและยากจนพิเศษของจังหวัดขอนแก่น อย่างเร่งด่วน ในขณะนี้มีกว่า 14,000 คน ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทาย โดยหลังจากความร่วมมือในครั้งนี้ ทุกหน่วยงานจะบูรณาการความร่วมมือกัน ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ไปจนถึงระดับจังหวัด เพื่อทำให้เด็กทุกคนไม่หลุดจากระบบการศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ให้มากที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง