ไต้หวันไม่ได้ส่งตัวแทนการเมืองเข้าร่วมการประชุม เพราะจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ต้องการให้ประเทศต่าง ๆ มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับไต้หวัน
คนที่ทำหน้าที่แทนประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน ในการประชุมเอเปคครั้งนี้คือ “มอร์ริส ชาง” คนไทยส่วนใหญ่อาจจะไม่คุ้นชื่อนี้นัก แต่มหาเศรษฐีวัย 91 ปี คนนี้ คือเจ้าพ่อแห่งอุตสาหกรรมชิปคอมพิวเตอร์ของไต้หวัน
เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทผลิตชิปคอมพิวเตอร์อันดับหนึ่งของโลก Taiwan Semiconductor Manufacturing Corp. หรือ TSMC
ระหว่างการประชุมเอเปคเที่ยวนี้ มอร์ริส ชาง ได้มีโอกาสพบเป็นการส่วนตัวกับทั้งประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง และรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส เขาบอกว่า ถึงแม้บทสนทนากับผู้นำจีนอาจไม่ยาวนัก แต่ก็เป็นการพูดคุยที่ดี
เราสอบถามสารทุกข์สุขดิบซึ่งกันและกัน และผมแสดงความยินดีกับท่านประธานาธิบดี สำหรับความสำเร็จของการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20
ชางบอกกับผู้สื่อข่าว
เป็นการพูดคุยที่ดีและสุภาพ
ชางกล่าวเสริม
การพบปะกันระหว่างตัวแทนหรือเจ้าหน้าที่ของจีนและไต้หวัน ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยนักเพราะความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างกัน ซึ่งเป็นประเด็นที่ชางบอกว่าไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกัน
นอกจากนั้นชางยังได้พบกับรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อพูดคุยเรื่องการลงทุนของ TSMC ในการตั้งโรงงานผลิตชิปคอมพิวเตอร์ ในรัฐอาริโซน่าของสหรัฐฯ ที่มีมูลค่าถึง 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ชางยอมรับว่า ต้นทุนการผลิตชิปในสหรัฐฯ สูงกว่าในไต้หวัน ถึงเท่าตัว TSMC จึงกำลังพิจารณาจะตั้งโรงงานในประเทศอื่นด้วย โดยเฉพาะบางประเทศในกลุ่มเอเปค ซึ่งชางยังไม่ยอมเอ่ยชื่อ
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ชาง เป็นผู้พลิกโฉมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ด้วยการก่อตั้ง TSMC เมื่อ 35 ปีก่อน ก่อนจะกลายเป็นผู้ผลิตชิปอันดับหนึ่ง และมีลูกค้าเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นผู้นำ เช่น Apple และ Qualcomm ส่วนไต้หวันก็พัฒนาศักยภาพของตนเป็นศูนย์เทคโนโลยีที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก
เขาสำเร็จการศึกษาจากสามมหาวิทยาลัยดังของสหรัฐฯ คือ ฮาร์วาร์ด เอ็มไอที และสแตนฟอร์ด โดยปริญญาสูงสุดของเขาคือ ดุษฎีบัณฑิต ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าจากสแตนฟอร์ด
ชางเคยทำงานให้กับบริษัทอเมริกัน Texas Instrument Inc. เป็นเวลาราว 25 ปี จนขึ้นสู่ระดับรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สาขาเซมิคอนดักเตอร์
จากนั้น เขาได้รับเชิญให้ไปอยู่ไต้หวันในช่วงทศวรรษที่ 1980 ซึ่งเป็นเวลาที่เขาก่อตั้ง TSMC ก่อนนำบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่นิวยอร์กช่วงปลายทศวรรษ ถือเป็นบริษัทไต้หวันรายแรกที่ซื้อขายหุ้นได้ที่ New York Stock Exchange โดย ชาง ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท TSMC จนถึง ค.ศ.2018