เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2565 สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงกรณีที่มีการนำเสนอข่าว การเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ในฟาร์มสุกรเกษตรกรพื้นที่ ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ โดยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 ให้สัมภาษณ์นักข่าวเกี่ยวกับการเกิดโรค อหิวาต์แอฟริกาในสุกรในพื้นที่ ต.ป่าป้อง และเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เข้าควบคุมโรค ตามระเบียบกรมปศุสัตว์ และประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราวในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเกิดความหวาดกลัวการระบาดของโรคไปยังพื้นที่อื่นในพื้นที่ข้างเคียง
กรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 พ.ย.2565 น.สพ.อนุสรณ์ หอมขจร ปศุสัตว์ จ.เชียงใหม่ ได้รับแจ้งจากนายมงคล สิทธิรักษ์ ปศุสัตว์อำเภอสันทราย รักษาการปศุสัตว์อำเภอดอยสะเก็ด ว่า พบสุกรป่วยตายลักษณะอาการตามนิยามของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร
ดังนั้นจึงสั่งการให้นายสัตวแพทย์ กลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ เข้าดำเนินการตรวจสอบในฟาร์มสุกรดังกล่าวร่วมกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอดอยสะเก็ด เจาะเลือดสุกรที่เหลืออยู่ในฝูง ซึ่งมีอาการปกติ ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนบน จ.ลำปาง
ทั้งนี้ ผลตรวจเป็นลบต่อเชื้อไวรัสอหิวาต์ฯ ในสุกร แปลผลได้ว่า สุกรไม่ได้รับเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือสุกรได้รับเชื้อแต่ยังไม่อยู่ในระยะที่มีการเพิ่มจำนวนเชื้อในเลือด (viremia) จึงตรวจไม่พบ
รักษาการปศุสัตว์อำเภอดอยสะเก็ดจึงทำการทำบันทึกสั่งกัก ห้ามเคลื่อนย้ายสุกรในฟาร์มดังกล่าวและสุกรในฟาร์มที่อยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตร จากจุดเกิดโรคอีก 1 ฟาร์ม โดยห้ามเคลื่อนย้ายเป็นเวลา 30 วัน
หลังจากนั้น วันที่ 11 พ.ย.2565 สุกรตัวที่ 2 มีการป่วย และตายลงอีก 2 วันถัดมา นายสัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอดอยสะเก็ดได้เข้าตรวจสอบ พร้อมขอเจาะเลือดสุกรที่เหลืออีก 2 ตัว ตรวจซ้ำแต่เกษตรกรปฏิเสธ
ต่อมาในวันที่ 21 พ.ย. 2565 รับแจ้งว่า สุกรตัวที่ 3 ป่วยตาย และวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอดอยสะเก็ดจึงเข้าทำการเจาะเลือดสุกรที่เหลืออยู่ 1 ตัว ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลการตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกรโดยวิธี Real-time RT-PCR จึงดำเนินการแนะนำการทำความสะอาดคอก ฆ่าเชื้อโรค ทำลาย และฝังกลบสุกรอย่างถูกสุขลักษณะ
ในวันที่ 25 พ.ย. ผลการควบคุมโรคเป็นไปด้วยความเรียบร้อยเนื่องจากว่าเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอดอยสะเก็ดลงพื้นที่ตั้งแต่ทราบว่ามีสุกรในพื้นที่ป่วยตายตัวแรก และใช้น้ำยาฆ่าเชื้อควบคุมโรค ทำตามระเบียบกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด สำหรับสุกรที่ตายทุกตัวถูกฝังอย่างถูกสุขลักษณะรอบพื้นที่เกิดโรคมีสุกรไม่มาก
นอกจากนี้เดือน พ.ย. จ.เชียงใหม่ได้ดำเนินกิจกรรมเชิงรุก ให้แต่ละอำเภอเฝ้าระวังการเกิดโรค โดยได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ตามนโยบายของกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ไม่ก่อโรคในคนและสัตว์ชนิดอื่น แต่เป็นโรคที่ก่ออาการรุนแรงถึงแก่ชีวิตในสุกรและหมูป่า โดยหากเกษตรกรพบสุกรป่วยตายผิดปกติ หรือสอบถามข้อมูลสามารถแจ้งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอพื้นที่