ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สาธิตจุฬาฯ สุดเจ๋ง คว้ารางวัลใหญ่ SIIF 2022 ที่เกาหลีใต้

ไลฟ์สไตล์
1 ธ.ค. 65
11:56
449
Logo Thai PBS
สาธิตจุฬาฯ สุดเจ๋ง คว้ารางวัลใหญ่ SIIF 2022 ที่เกาหลีใต้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักเรียนสาธิตจุฬาฯ นวัตกรอายุน้อย คว้ารางวัลใหญ่ Grand Prize งาน “Seoul International Invention Fair 2022” ที่เกาหลีใต้

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 65 ที่ผ่านมา ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ลงข่าว
นักเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม คว้ารางวัล Grand Prize รางวัลใหญ่ที่สุดของการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ ในงาน “Seoul International Invention Fair 2022” (SIIF 2022) จัดโดย Korea Invention Promotion Association (KIPA) เมื่อวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2565 ณ Coex Convention & Exhibition Center กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี จากผลงานนวัตกรรมเบาะรองนั่ง “หลังพร้อม” ตอบโจทย์ผู้ที่มีปัญหาอาการปวดหลังจากการนั่งผิดท่าหรือนั่งนานๆ ประกอบด้วยเบาะรองมีเซนเซอร์ที่ตรวจจับท่านั่งของผู้ใช้งาน พร้อมมีเสียงเตือนเพื่อจัดท่านั่งที่ถูกต้องโดยใช้ร่วมกับแอปพลิเคชัน Oh My Back! นับเป็นหนึ่งในสองรางวัลนวัตกรรมจากประเทศไทยที่ได้รางวัล Grand Prize จากการประกวดในระดับนานาชาติรายการนี้

  • รางวัลเหรียญทอง (Gold Prize) และรางวัลพิเศษจาก Massasei Women’s Charitable Association ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย จากผลงาน “พีต้า โกลด์ ไวท์เทนนิ่ง เซรั่ม” (Peta Gold Whitening Serum: New Natural Anti-tyrosinase Whitening Serum from Red Cocoa) โดย ศ.ดร.นงนุช เหมืองสิน ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ
  • รางวัลเหรียญเงิน (Silver Award) และรางวัล Best Innovation Award จาก The First Institute of Researchers and Inventors of I.R.Iran จากผลงาน “เครื่องตรวจน้ำตาลชนิดไม่เจาะผิวหนังสำหรับกลุ่มเสี่ยงภาวะเบาหวาน” (Truly Noninvasive Sweat Glucose Sensor for Diabetic Prone Person) โดย ดร.นาฏนัดดา รอดทองคำ ศ.ดร.ประณัฐ โพธิยะราช น.ส.ปราณี รัตนวลีดิโรจน์ ผศ.ดร.กฤษณา ศิรเลิศมุกุล ดร.นาฎตินันทร์ พรหมเพชร และนายพัลลภ หล่อมณีนพรัตน์ จากสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาฯ
  • รางวัลเหรียญเงิน (Silver Award) และรางวัลพิเศษจาก Vietnam Fund for Supporting Technological Creations (VIFOTEC) สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม จากผลงาน “โคโมดูล : การประกอบโครงสร้างของเล่นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจสำหรับเด็กปฐมวัย” (Co Module: Assembling the Toy Structures to Inspire Preschool Children ) โดย ผศ.พรเทพ เลิศเทวศิริ คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ

นวัตกรรมเบาะรองนั่ง “หลังพร้อม” คิดค้นพัฒนาโดย ด.ช.พิชชากร อรพิมพันธ์ ด.ญ.พัทธ์ธีรา อรพิมพันธ์ และ ด.ญ.พัทธวรรณ พิบูลธรรม นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม โดยใช้เวลากว่า 1 ปีในการทำงานร่วมกัน จุดเริ่มต้นในการคิดค้นนวัตกรรมนี้เกิดจากการรวมกลุ่มเพื่อนๆ ที่มีความชอบอยากทำสิ่งประดิษฐ์ โดยได้ไอเดียมาจากการนั่งเรียนออนไลน์เป็นเวลานานแล้วปวดหลัง จึงอยากสร้างเบาะรองนั่งเพื่อเป็นตัวช่วยในการนั่งให้ถูกวิธี ช่วยไม่ให้เกิดอาการปวดหลังจากการนั่งผิดท่าหรือนั่งเรียน นั่งทำงานเป็นเวลานาน โดยมี อ.จีระศักดิ์ จิตรโรจนรักษ์ อาจารย์โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ และรุ่นพี่ของโรงเรียนที่เป็นนิสิตเก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ คอยให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษา

“การทำงานของเบาะรองนั่ง จะมีกล่องควบคุมที่ติดตั้งไว้กับเบาะ และมีเซนเซอร์ 6 ตัว ที่เบาะนั่ง 2 ตัว และบริเวณหลังพิง 4 ตัว เพื่อตรวจจับการนั่งของเรา ถ้านั่งไม่สมดุลเป็นเวลานาน เครื่องจะดังแจ้งเตือนให้เราทราบ ซึ่งตัวเครื่องสามารถบันทึกการใช้งาน เก็บข้อมูลการนั่งในแต่ละวัน ตั้งเวลาการนั่ง บอกน้ำหนักการนั่งแต่ละข้าง โดยใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชัน Oh My Back!  ที่สามารถตั้งเป้าหมาย มีการแข่งขันเป็นเกม สะสมคะแนน และแลกของรางวัลได้” สามนักเรียนคนเก่งจากโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ กล่าวถึงฟังก์ชั่นการทำงานของนวัตกรรมนี้

อ.จีระศักดิ์ จิตรโรจนรักษ์ ประธานศูนย์นวัตกรรมแห่งโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายประถม และอาจารย์ที่ปรึกษา เปิดเผยว่า ทางโรงเรียนได้ส่งผลงานนวัตกรรมของนักเรียนเข้าร่วมการประกวดในต่างประเทศเป็นประจำทุกปี ในปีนี้ทางโรงเรียนได้ส่งผลงานของนักเรียนเข้าประกวดในงาน SIIF 2022 จนได้รับคัดเลือกจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้เป็น 1 ใน 71 ผลงานที่เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปประกวดที่ประเทศเกาหลี ซึ่งนวัตกรรมเบาะรองนั่ง “หลังพร้อม” เป็นผลงานนวัตกรรมของนวัตกรที่อายุน้อยที่สุดคือเป็นนักเรียนในระดับประถมศึกษาเพียงทีมเดียวที่เข้าร่วมการประกวดในครั้งนี้

อ.จีระศักดิ์ กล่าวถึงแนวทางในการส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนา นวัตกรรมต่างๆ ว่า เริ่มจากให้นักเรียนมองปัญหาต่างๆ จากสิ่งรอบตัว และคิดค้นวิธีการในการแก้ปัญหานั้นๆ ทางอาจารย์จะช่วยนักเรียนในการค้นหาวิธีการและกระบวนการต่างๆ เท่านั้น ส่วนเรื่องความคิดสร้างสรรค์นั้นไม่มีข้อจำกัดทางด้านอายุ ซึ่งนักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์อยู่แล้ว สิ่งสำคัญคือต้องเชื่อมั่นว่าเราทำได้ ก่อนไปแข่งขันได้ช่วยนักเรียนซักซ้อมการนำเสนอผลงาน ซึ่งนักเรียนทั้งสามนำเสนอผลงานได้ดีเป็นที่ประทับใจของคณะกรรมการอย่างยิ่ง

ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง