ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"โฆษกดีเอสไอ" ชี้ ขโมยไฟหลวงขุดบิตคอยน์กระทบความมั่นคงพลังงาน

อาชญากรรม
8 ธ.ค. 65
15:00
711
Logo Thai PBS
"โฆษกดีเอสไอ" ชี้ ขโมยไฟหลวงขุดบิตคอยน์กระทบความมั่นคงพลังงาน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ดีเอสไอขยายผลสอบกลุ่มทุนเบื้องหลัง ลักไฟหลวงขุดบิตคอยน์ ยังไม่พบโยงทุนจีนสีเทา ส่งหนังสือจี้ผู้ว่าฯกฟน.แจ้งความ-ศุลกากรสอบเส้นทางนำเข้า 3,500 เครื่องขุดเงินดิจิทัลมือสองจากจีน ไม่ฟันธงเจ้าหน้าที่รัฐเอี่ยวในขบวนการหรือไม่

จากกรณี นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำหนังสือถึง นายวิลาส เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2565 ที่ผ่านมา ขอให้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุลักทรัพย์ใช้ไฟหลวง

และขอความร่วมมือให้กรมศุลกากร ตรวจสอบเครื่องขุดเงินดิจิทัล รุ่นเอส 9 จำนวน 3,500 เครื่อง ว่านำเข้ามาถูกต้องตามกฎหมาย หรือลักลอบนำเข้ามา

หลังจากดีเอสไอเข้าตรวจค้นพื้นที่กทม.และนนทบุรี 41 จุด พบมีผู้ลักลอบใช้กระแสไฟฟ้าหลวงทำเหมืองขุดคริปโตเคอเรนซี่ หรือบิตคอยน์ ทำให้การไฟฟ้าฯได้รับความเสียหายปีละเกือบ 300 ล้านบาท

และมีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจเกี่ยวข้องกับการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน เพราะไฟฟ้าที่ถูกขโมยทำให้มีเงินหายไปจากระบบของการไฟฟ้าถึงปีละ 50,000 บาท

ประเด็นน่าสงสัยทั้งหมด จึงเป็นที่มาของการขยายผลสอบไปให้ถึงกลุ่มทุนที่และบุคคลเกี่ยวข้องที่อยู่เบื้องหลังขบวนการลักลอบขุดบิตคอยด์

พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองบริหารคดีพิเศษ ในฐานะโฆษกกรมสอบคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)ให้สัมภาษณ์ ไทยพีบีเอสออนไลน์

ผู้สื่อข่าวถามว่า ยังมีพื้นที่อื่นลักลอบใช้ไฟหลวงขุดบิตคอยด์ในพื้นที่อื่น?

พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า นอกจากจากกทม.และปริมณฑล ขณะนี้เบาะแสเริ่มเข้ามาเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม อยากให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามหมู่บ้านจัดสรร อาคารพาณิชย์ หากพบความผิดปกติที่บริเวณหน้าบ้าน ว่ามีอะไรผิดสังเกตหรือไม่ เช่น สายไฟฟ้าเมนหลัก ที่ต่อเข้าบ้านพักเราส่วนใหญ่จะเป็นสายเปลือย

แต่ถ้าพบว่ามีจุดใดมีการนำบล็อคสี่เหลี่ยมมาคลุมหรือครอบไว้ และมีเสียงดังหึ่ง ๆ ที่ไม่ใช่เสียงแอร์ ขอให้แจ้งมาที่ดีเอสไอ เพื่อเราจะได้ขยายผลเข้าไปตรวจสอบว่า มีการลักใช้ไฟหลวงขุดเหมืองบิตคอยด์หรือไม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า พวกที่ลักลอบขุดเหมืองต้องรู้เรื่องระบบไฟฟ้า

พ.ต.ต.วรณันกล่าวว่า พวกที่ลักลอบขุดเหมือง ต้องต่อไฟฟ้าจากสายเมนหลัก แพทเทิร์นของเขาคือใช้เป็นบ้านหรืออาคารพาณิชย์ ที่เป็นตึกสูง 4-5 ชั้น เพราะใช้กระแสไฟฟ้าจำนวนมาก อุณหภูมิสูง ต้องระบายความร้อน

หากสังเกตจะพบว่า ชั้นล่างจะมีสายไฟวิ่ง ข้างบนจะมีสายไฟเมนซึ่งจะเชื่อมไปทุกบ้าน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ หากพื้นที่จุดไหนมีการขโมยไฟฟ้าหลวงใช้ เขาจะตีเป็นบล็อคครอบที่หน้าบ้านตัวเอง แล้วจั๊มไฟตรง ไม่ผ่านมิเตอร์วัดไฟ

เนื่องจากเหมืองคริปโตจะต้องใช้คอมพิวเตอร์ขุด ต้องใช้กระแสไฟฟ้าปริมาณมากเทียบเท่าโรงงานอุตสาหกรรม พวกนี้จะใช้วิธีการจั๊มสายไฟจากชั้นล่างหรือชั้นใต้ดิน แล้วเจาะทะลุพื้นแต่ละชั้นขึ้นไป เพื่อขึ้นไปชั้นบนสุดที่มีการวางเครื่อง แล้วเครื่องจะมีพัดลมมันจะเสียงดัง แต่เขาก็จะบุกันเสียงไว้ แล้วมีชั้นเหล็กวางเครื่องคอมฯ เป็นชั้นๆ

เมื่อถามว่า วิธีการทำงานของเครื่องขุดเงินบิทคอยน์เป็นอย่างไร

พ.ต.ต.วรณันกล่าวว่า เราพบว่า จะมีการวางเครื่องขุดเงินไว้ประมาณ 50-100 เครื่อง แต่ละเครื่องจะมี power supply กล่องหนึ่ง และจะมีกล่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้สำหรับการขุดบิตคอยด์อีกกล่องหนึ่ง แต่สิ่งที่เขาต้องใช้คู่ คือ ใช้ไฟฟ้ากับสายอินเตอร์เนต เพราะว่ามันต้องไปขุดในอินเตอร์เนต

พอขุดเสร็จแล้วต้องเอามารวบรวม แล้วคำนวนออกมาเป็นบิตคอยน์ จากนั้นจะส่งกลับเข้าไปเก็บไว้ในวอลเลต ซึ่งตรงนี้จะมีคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมสั่งการอยู่อีกตัวหนึ่ง ซึ่งอยู่ที่บ้านของผู้ควบคุมระบบ จุดที่ดีเอสไอเข้าไปตรวจค้นเจอ

การลักไฟหลวงเพื่อขุดบิตคอยน์คนทำจะต้องมีความรู้เรื่องระบบไฟฟ้าดีมากๆ ไม่เช่นนั้นเขาทำไม่ได้ เขาต้องจั๊มไฟสายเมน เพราะไฟที่จั๊มส่วนใหญ่จะต้องจั๊มไฟสามเฟส เพราะต้องมีการเฉลี่ยปริมาณการใช้ไฟแต่ละเส้น ซึ่งเครื่องขุดแต่ละเครื่องจะกินไฟไม่เท่ากัน

และแต่ละเครื่องจะมีปริมาณของการผลิต หรือขุดเหมืองได้ตามประเภทรุ่นของเครื่อง รุ่นใหม่ รุ่นเก่า ปริมาณไฟที่กิน หากคำนวณออกมาเป็นค่าบิตคอยด์แล้ว หากทำถูกต้องแล้วต้องจ่ายค่าไฟเอง จะขาดทุน เพราะไฟที่ใช้กับจำนวนเครื่องเยอะๆ ค่าไฟฟ้าของไทยเป็นอัตราก้าวหน้า ไฟก็จะวิ่งสูงขึ้นเท่ากับไฟโรงงาน

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า เหตุใดจึงไม่รู้ หากพบการใช้ไฟผิดปกติก็ต้องมาตรวจสอบ

พ.ต.ต.วรณันกล่าวว่า ตรงนี้เราก็ตั้งเป็นข้อสงสัยและต้องขยายผล

เมื่อถามต่อว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่ามีเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้ารู้เห็นเป็นใจ

พ.ต.ต.วรณันกล่าวว่า ยังไม่อยากไปตั้งข้อสงสัย หรือข้อกล่าวหา แต่ว่าเรากำลังมองในระบบอยู่ว่า ระบบใหญ่ของเขาทำงานแบบไหน หากสายไฟเส้นนี้จ่ายไฟเข้าระบบหมู่บ้าน และปกติรับโหลดเท่านี้แอมป์ หากถูกลักไฟแล้วโหลดมันเพิ่มขึ้นการไฟฟ้าจะทราบหรือไม่ เราต้องไปดูระบบของเขา

แต่ประเด็นคือ พอมีการดึงไฟออกไป ไฟบางเส้นเกินโอเวอร์โหลดและมีไหม้ด้วย สิ่งที่เรากลัวที่สุดคืออัคคีภัย นอกจากไฟฟ้าโหลดเกินแล้วปัญหาไฟไหม้ก็สำคัญ เพราะเป็นสายไฟเมน ซึ่งการใช้ไฟฟ้าในลักษณะนี้ทำให้มีไฟไหม้ไปแล้ว 3 แห่ง ซึ่งอันตรายมาก

เมื่อถามว่า มีข้อมูลหรือไม่ว่าใครอยู่เบื้องหลังนำเข้าเครื่องฯ

พ.ต.ต.วรณันกล่าวว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ดีเอสไอประสานกับกรมศุลกากรให้ช่วยตรวจสอบแล้วว่า มีการนำเข้าที่ถูกกฎหมาย หรือลักลอบนำเข้า เพราะเครื่องมันเยอะ เครื่องขุดบิตคอยด์ผลิตในประเทศไทยไม่ได้ เราต้องไปตรวจสอบว่าขบวนการนำเข้ามายังไง

เบื้องต้นพบว่า ของผลิตในประเทศจีน แม้จะเป็นของมือสองก็ต้องไปตรวจสอบว่ามาจากจีนโดยตรงหรือไม่ ลักลอบนำเข้าหรือไม่ ซึ่งศุลกากรรับประเด็นนี้ไปช่วยดูแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ต้องหาที่คุมระบบเกี่ยวข้องในขบวนการอย่างไร

พ.ต.ต.วรณันกล่าวว่า ผู้ต้องหาเป็นคนไทยวัย 30 ปีจบด้านคอมพิวเตอร์ มีหน้าที่คุมระบบงานเป็นนักเทคนิค แต่เงินไม่ได้เข้าที่เขา เรากำลังขยายว่าใครเป็นนายทุน จากการสอบปากคำเขารับสารภาพว่า ทำมาแล้ว 2 ปี มีรายได้ปีละ 103 ล้านบาท

แต่ค่าไฟฟ้าที่รัฐเสียหายไป 300-500 ล้านบาทต่อปี เป็นการคำนวณจากเครื่องคอมฯว่า มีจำนวนเท่าไหร่ หนึ่งเครื่องต่อหนึ่งวัน แต่ละเครื่องกินไฟเท่าไหร่จากวัตต์ต่อเครื่อง แล้วคูณจำนวนเครื่องทั้งหมด แล้วเอามาหารด้วยค่าไฟเป็นยูนิต ตกวันละเท่าไหร่นี่คิดเรทต่ำสุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้อยู่เบื้องหลังมีเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าเกี่ยวข้อง?

โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ตรงนี้ หากการสืบสวนถึงจุดหนึ่งก็ต้องมีการอธิบายว่า ใครเป็นใครเกี่ยวข้องเชื่อมโยงขนาดไหน

เมื่อถามต่อว่า คดีเกิดขึ้นตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วทำไมการไฟฟ้าฯ ยังไม่ขยับ

พ.ต.ต.วรณันกล่าวว่า ดีเอสไอตอบแทนไม่ได้ ไม่รู้จะตอบยังไง แต่ในสิ่งที่เราทำ เราส่งข้อมูลให้แล้ว เพราะจุดที่เราเจอผู้ที่เกี่ยวข้องบอกว่า แค่เสี้ยวหนึ่งเอง รมว.ยุติธรรม ลองคำนวณ ถูกลักไฟ 1 เปอร์เซ็นต์ค่าเสียหาย 500 ล้านต่อปี ลองคำนวนกลับ 100 เปอร์เซ็นต์ค่าเสียหายอยู่ที่ปีละ 50,000 ล้านบาท ดังนั้นผู้ที่คุมระบบจะไม่ทราบหรือ

เมื่อถามว่า ช่วงกระแสคริปโตพีคๆ อาจมีการขโมยใช้ไฟฟ้าในพื้นที่อื่นๆ

พ.ต.ต.วรณันกล่าวว่า ทั่วประเทศหรือเปล่า เราไม่ทราบ แต่ดีเอสไอได้ส่งสัญญาณแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบ เบาะแสเริ่มมาแล้ว ช่วยกันตรวจสอบตามหน้าบ้านที่พักอาศัยว่า มีอะไรผิดสังเกตหรือไม่ ดีเอสไอจะได้นำขข้อมูลไปขยายผลต่อ

เมื่อถามว่า พบความเชื่อมโยงกับคดีทุนจีนสีเทาตู้ห่าวหรือไม่

พ.ต.ต.วรณันกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็น แต่ทุกอย่างจะอธิบายด้วยหลักฐานทั้งหมด เพราะว่าสีบไป ขยายไป หลักฐานมันก็จะตอบตัวมันเอง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ค่าเอฟทีที่พ่วงทำให้เราต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มด้วยหรือไม่

พ.ต.ต.วรณันกล่าวว่า ประเด็นนี้ รมว.ยุติธรรม ก็ถามและตั้งเป็นข้อสังเกตเช่นเดียวกับดีแอสไอว่า มีผลพวงเกี่ยวข้องกับความสูญเสียในระบบที่หายไป แล้วการไฟฟ้านำมาบวกกลับเพิ่มผลักภาระให้ชาวบ้านหรือไม่ ก็เป็นเหตุผลที่สงสัยได้ เพราะปล่อยให้คนมาลักลอบขุดบิตคอยด์

แต่เงินหายจากระบบไปปีละ 50,000 ล้าน แล้วรัฐต้องแบกรับเท่าไหร่ แล้วส่งต่อมาที่ประชาชนต่อ ซึ่งดีเอสไอจะขยายผลต่อขุดบิตคอยด์อย่างเดียวได้เงิน

แต่พนักงานสอบสวนต้องพิจารณาเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากการขุดบิตคอยด์แล้ว มีการนำข้อมูลอื่นไปใช้ประโยชน์ในระบบคอมพิวเตอร์ไปใช้อย่างไร ปัญหาที่เกิดขึ้นถือว่ากระทบความมั่นคงในเรื่องพลังงานด้วย เพราะใช้ทรัพยากรของไทย แต่เงินไหลออกไปนอกระบบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง