ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้สอบสวนดำเนินคดีอาญากับขบวนการหลีกเลี่ยงภาษีอากรรถยนต์ราคาแพง ที่มีการส่งออกจากสหราชอาณาจักร เข้ามายังประเทศไทย จำนวน 1,020 คัน ตามข้อมูลที่ได้รับจากการทำคำร้องขอความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา (Mutual Legal Assistance Treaty-MLAT) ไปยังสหราชอาณาจักร ซึ่งกรมศุลกากรได้ดำเนินการประเมินราคาและอากรใหม่ พบหลักฐานว่ามีการเลี่ยงภาษีด้วยการสำแดงราคานำเข้าอันเป็นเท็จ (ราคาต่ำ) เพื่อให้เกิดฐานราคาในการคำนวณภาษีที่ต่ำลงกว่าความเป็นจริง ทำให้รัฐขาดรายได้จากภาษีประเภทต่าง ๆ ในการนำเข้ารถยนต์เป็นเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยรับเป็นคดีพิเศษ ในปี พ.ศ.2565 จำนวน 114 คดี
ทั้งนี้ มอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ เป็นผู้ทำการสืบสวนสอบสวน และมี พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะ โดยมีการนำเสนอความคืบหน้าของคดีมาเป็นลำดับ นั้น
ล่าสุด พ.ต.ท.พเยาว์ เปิดเผยว่า 1 ปีที่ผ่านมา การสอบสวนคืบหน้าไปมาก โดยสอบสวนผู้ครอบครองรถยนต์ปัจจุบัน 404 คน สอบสวนผู้ขอจดทะเบียนครั้งแรก 466 คน สอบสวนนายทะเบียนรถยนต์กรุงเทพมหานคร 960 คัน สอบสวนนายทะเบียนรถยนต์ต่างจังหวัด (21 จังหวัด) 59 คัน สอบสวนเจ้าหน้าที่ส่วนควบคุมบัญชีรถกรมการขนส่งทางบก 1,020 คัน สอบสวนเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรผู้ประเมินอากรขาด 1,020 คัน สอบสวนเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรผู้ตรวจปล่อย 36 คน รวมเอกสารเกี่ยวกับเส้นทางการเงิน และธุรกรรมต่าง ๆ จำนวนมาก สามารถแจ้งข้อกล่าวหากับผู้นำเข้ารถยนต์ฯ ได้จำนวน 133 คน จาก 79 คดี ที่เหลืออยู่ระหว่างติดตามแจ้งข้อกล่าวหาให้ครบทุกคน คาดว่าภายในเดือน ก.พ.2566 จะสามารถแจ้งข้อกล่าวหาได้ครบ กรณีที่ไม่มารับทราบข้อกล่าวหา ก็จะเสนอศาลเพื่อขอออกหมายจับและประกาศสืบจับ และสรุปสำนวนการสอบสวนเสนอไปยังพนักงานอัยการต่อไป
ขณะที่นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นคดีสำคัญที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้ความสำคัญและมอบนโยบายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ เร่งรัดทำการสืบสวนสอบสวนให้เสร็จโดยเร็ว หลังจากการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้นำรถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักรโดยเลี่ยงภาษีแล้ว จะขยายผลไปยังตัวการที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มธุรกิจจำหน่ายรถยนต์นำเข้าฯ หรือโชว์รูม ต่อไป