จากกรณีพบข้อความและคลิปวิดีโอ 2 คลิป แสดงภาพคล้ายการผลิตไข่จากสารเคมีแล้วถูกนำเข้ากระบวนการคัดไข่ตามปกติ และอีกคลิปแสดงการนำไข่เป็ดมาผ่านกระบวนผลิตและมีข้อความระบุว่า มีเครื่องผลิตไข่เป็ดปลอมจากจีน ผลิตไข่เป็ดปลอมส่งเข้าสู่ไทย ตามชายแดนไทย-ลาว หากกินจะตายผ่อนส่ง อาจส่งผลให้ผู้บริโภคไข่เป็ดในไทยตื่นตระหนก และมีความกังวลจนไม่กล้าบริโภคไข่เป็ดจากท้องตลาดนั้น
กรมปศุสัตว์ ตรวจสอบแล้วพบว่า คลิปแรกเป็นภาพการทดลองผลิตไข่จากห้องทดลองแล้วตัดต่อ ชี้นำให้เข้าใจว่ามีการนำไปผลิตตามกระบวนการคัดไข่ต่อ และอีกคลิปเป็นกระบวนการแปรรูปไข่เป็ดเป็นไข่เค็มและไข่เยี่ยวม้า นำมาบิดเบือนข้อเท็จจริงว่าเป็นการผลิตไข่ปลอมจนประชาชนบางส่วนเกิดความเข้าใจผิดและมีการแชร์ไปอย่างแพร่หลาย
หลายปีที่ผ่านมามีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ หรือบิดเบือนจากข้อเท็จจริงในประเด็นนี้หลายครั้ง โดยกรมปศุสัตว์ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและชี้แจงข้อมูลทุกครั้ง ขอย้ำว่าไม่มีไข่ปลอมจำหน่ายเพื่อการบริโภคในไทยแน่นอน เนื่องจากการผลิตไข่ปลอมต้นทุนการผลิตแพงกว่าไข่จริง ไข่ไก่และไข่เป็ดในไทยมีราคาที่เหมาะสมตามกลไกตลาดอยู่แล้ว อีกทั้งไทยยังสามารถผลิตไข่ได้ในปริมาณมากเพียงพอต่อความต้องการผู้บริโภคในประเทศ ไม่มีความจำเป็นต้องผลิตไข่ปลอมขึ้นมาหลอกขาย
เช็กวิธีเลือกซื้อ "ไข่สด"
สำหรับข้อแนะนำวิธีการเลือกซื้อไข่สดสำหรับผู้บริโภค ให้สังเกตที่เปลือกไข่ ไข่สดจะมีนวลไข่คล้ายแป้งติดอยู่ เปลือกเรียบไม่ขรุขระ เปลือกไข่ภายนอกมีสีตามสายพันธุ์ ไม่มีสิ่งสกปรก เปลือกไข่ไม่แตก บุบ ร้าว หากเขย่าจะไม่มีเสียงน้ำกระฉอกภายใน หรือสังเกตง่าย ๆ ด้วยการดูที่วันผลิตและหมดอายุที่แสดงที่ฉลากของไข่
ส่วนการเก็บรักษาไข่ที่เหมาะสม คือ ควรเก็บในอุณหภูมิประมาณ 4 องศาเซลเซียส หรือเก็บในตู้เย็นในช่องเก็บไข่ ข้อควรระวังหากเก็บไว้ในอุณหภูมิปกติแล้วเมื่อผ่านไป 7 วัน ยิ่งควรนำเข้าตู้เย็น แต่ไม่ควรเก็บในช่องแช่แข็ง เพราะทำให้โปรตีนไข่เปลี่ยนสภาพไป
ทั้งนี้ ปัจจุบันไข่ที่ผลิตจากฟาร์มภายใต้มาตรฐาน GAP ที่ได้รับรองโดยกรมปศุสัตว์ มีการควบคุมดูแลการผลิตตั้งแต่แหล่งที่มาของแม่ไก่ไข่และเป็ดไข่ การให้อาหาร การให้ยา การเฝ้าระวังโรค ส่วนใหญ่เลี้ยงภายใต้ระบบปิดอย่างเข้มงวด ทำให้ได้ไข่ที่สด สะอาด มีความปลอดภัยและปลอดสารตกค้าง โดยขอให้ประชาชนเลือกซื้อไข่สดจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น สถานที่จำหน่ายที่เป็นหลักแหล่ง สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของไข่ได้ หรือเพียงมองหาตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK”