วันนี้ (26 ม.ค.2566) เวลา 07.00 น. เว็บไซต์ air4thai ของกรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศ พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ในระดับ คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ คุณภาพดีมากถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ตรวจพบค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ระหว่าง 23 - 54 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เกินมาตรฐานที่บริเวณริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม จ.กรุงเทพฯ 54 มคก./ลบ.ม.
เตือนฝุ่นระลอกใหม่ 27 ม.ค. และ 1 ก.พ.
สำหรับผลการตรวจแหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 ของ กทม. แสดงให้เห็นปริมาณฝุ่นเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ ในปีนี้กรมควบคุมมลพิษได้ติดตามและคาดการณ์ล่วงหน้า 7 วัน พบว่า ช่วงที่มีปัญหาเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. โดยปัญหาที่พบว่าในวันที่ 24 ม.ค. เกิดพื้นที่สีส้มทั่วกรุงเทพฯ และค่า PM2.5 จะเกินมาตรฐานอีกครั้งในวันที่ 27 ม.ค. และจะเกิดพื้นที่สีส้มทั่วกรุงเทพฯ อีกครั้งในวันที่ 1 ก.พ. โดยปัญหานี้จะอยู่ไปจนถึงเดือน เม.ย.
ขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าปีนี้มีความแห้งแล้งมากกว่าปีที่ผ่านมา นี่เป็นปัจจัยส่งเสริมทำให้ PM 2.5 อาจจะรุนแรงขึ้น ซึ่งจากสถิติที่ผ่านพบว่าเดือนที่มักจะมีความรุนแรงของ PM2.5 มากที่สุดคือเดือน ก.พ.
ส่วนปัจจัยหลักของการเกิดฝุ่น ได้แก่ เพดานลอยตัวของอากาศ โดยข้อมูลจากอุตุนิยมวิทยาพบว่า เพดานอากาศต่ำกว่า 500 เมตร ทำให้เกิดสถานการณ์ PM 2.5 เนื่องจากเพดานอากาศจะสูงขึ้นในหน้าร้อนและเพดานอากาศจะต่ำลงในหน้าหนาว
สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือในช่วงวันที่ 31 ม.ค. - 1 ก.พ. สถานการณ์มีโอกาสรุนแรงเหมือนวันที่ 24 ม.ค. ซึ่งไม่สามารถควบคุมปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยาได้ แต่สิ่งที่สามารถควบคุมได้ คือ ปัจจัยที่ 2 คือ แหล่งกำเนิด เช่น การจราจร ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในพื้นที่กรุงเทพฯ โรงงานอุตสาหกรรม ภาคครัวเรือน การเผาในที่โล่ง ซึ่งสามารถร่วมกันควบคุมได้
แบ่งแผนทำงาน 4 ระดับความวิกฤต
สำหรับแนวทางของ กทม. หากค่าฝุ่น PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ 3 ส่วน ได้แก่ เฝ้าระวังและแจ้งเตือน กำจัดต้นตอ และการแนะนำการป้องกันดูแลสุขภาพ ซึ่ง กทม.จะนำค่าระดับฝุ่นประกอบกับค่าการพยากรณ์ของกรมควบคุมมลพิษ เพื่อเป็นข้อมูลสถานการณ์และนำมาใช้ในการวางแผนการทำงาน เป็น 4 ระดับ
- ระดับที่ 1 (ฟ้า) ค่าไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. จะใช้ 15 มาตรการ เช่น ตรวจไซด์ก่อสร้าง ตรวจโรงงาน ให้มีการฉีดพ่นน้ำเพื่อไม่ให้มีการฟุ้งกระจายของฝุ่น
- ระดับที่ 2 (เหลือง) ค่า 37.6-50 มคก./ลบ.ม. จะมีการเพิ่มความเข้นข้นในการตรวจมากยิ่งขึ้น
- ระดับที่ 3 (ส้ม) ค่า 51-75 มคก./ลบ.ม. จะมีการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานงานขอความร่วมมือให้ทำงานแบบ Work From Home 60% รวมถึงลดงานและกิจกรรมที่เกิดฝุ่นละออง
- ระดับที่ 4 (แดง) ค่ามากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. จะขอความร่วมทำงานแบบ Work From Home 100% เพราะเป็นการช่วยลดมลพิษได้เป็นอย่างมากรวมถึงการปิดโรงเรียน เป็นต้น
ป่วยเพิ่มเฉียด 1 แสนคน 60% เป็นผู้สูงอายุ-เด็กเล็ก
ขณะที่ผลสำรวจจากกระทรวงสาธารณสุขในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ที่เจ็บป่วยจากโรคระบบทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง และโรคตาอักเสบ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือน ธ.ค. โดยผู้ที่เจ็บป่วยจากผลกระทบทางด้านอากาศประมาณ 110,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 90,000 คนทั่วประเทศ ร้อยละ 60 เป็นผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงเด็กเล็ก ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะมีอาการน้อย เช่น เจ็บตา ตาแดง คันคอ น้ำมูกไหล
นอกจากนี้ ปีนี้ กทม.ได้ขยายคลินิกอนามัย เพื่อรองรับผู้ป่วยมีอาการป่วยด้วยระบบทางเดินหายใจ จากเดิม 3 แห่งเป็น 5 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถแก้ปัญหาและรองรับสถานการณ์ได้ คือ คลินิกมลพิษทางอากาศโรงพยาบาลกลางคลินิกมลพิษทางอากาศโรงพยาบาลตากสินคลินิกมลพิษทางอากาศโรงพยาบาล เจริญกรุงประชารักษ์ คลินิกมลพิษทางอากาศโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และคลินิกมลพิษทางอากาศโรงพยาบาลสิรินธร
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถ เข้าใช้บริการได้ทันที โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงต้องระวังเป็นพิเศษ เช่น เด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ ผู้มีโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน สามารถเข้ารับคำปรึกษาและการตรวจรักษาได้ทันที
บริษัทเอกชน ตอบรับ Work From Home ลดฝุ่น
ในปีนี้ กทม. มีการตรวจควันดำจากรถบรรทุกในพื้นที่ไซด์งานก่อสร้างอย่างเข้มข้น รวมถึงขอความร่วมมือประชาชนใช้บริการรถสาธารณะให้มากขึ้นโดยเฉพาะในวันที่ 27 ม.ค. และวันที่ 1 ก.พ.นี้ ที่ค่าฝุ่นในกรุงเทพฯ จะเป็นสีแดง
ส่วนมาตรการที่จะให้ประชาชน Work From Home ในวันที่ค่าฝุ่นสูงนั้น กทม. ได้ทำหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงขอความสมัครใจจากภาคเอกชนซึ่งตอนนี้ มี 11 บริษัทเอกชนที่สนใจและจะเข้าร่วม Work From Home กับ กทม.
รวมถึงได้แจ้งเตือนขอให้ประชาชนงดออกกำลังกายกลางแจ้ง ส่วนโรงเรียนขอให้ปิดหน้าต่างและให้โรงเรียนงดทำกิจกรรมนักเรียนนอกอาคาร ขณะที่การสวมใส่หน้ากากอนามัยหากเป็นหน้ากากอนามัยปกติจะป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้น้อย หากเป็นหน้ากาก N95 จะสามารถกรองและป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้มากกว่า
อ่านข่าวอื่นๆ
อย.อายัด-ตรวจหาสารตกค้าง "บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป" นำเข้าจากเกาหลี