ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ปลาหยก" เอเลียนสปีชีส์ 1 ใน 13 ชนิดที่ถูกห้ามนำเข้าไทย

สิ่งแวดล้อม
2 ก.พ. 66
13:53
25,635
Logo Thai PBS
"ปลาหยก" เอเลียนสปีชีส์ 1 ใน 13 ชนิดที่ถูกห้ามนำเข้าไทย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักอนุรักษ์ ถึงกับงง บริษัทซีพีเอฟ เปิดตัว "ปลาหยก" เชิงการค้า ชูสรรพคุณโภชนาการ บำรุงประสาทผิวพรรณ พบเป็น 1 ใน 13 บัญชีสัตว์น้ำเอเลียนสปีชีส์ ที่กรมประมงออกประกาศห้ามนำเข้าและเพาะเลี้ยง ห่วงหลุดในธรรมชาติซ้ำรอยปลาหมอสีคางดำ

กรณีบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดตัว ปลาหยก (Jade Perch) ผลิตภัณฑ์พรีเมียม รสชาติอร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ช่วยบำรุงเซลล์ประสาท และผิวพรรณ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หลังเปิดตัวมีการตั้งข้อสังเกตจากกลุ่มนักอนุรักษ์ และผู้เชี่ยวชาญด้านปลาที่กังวลว่าอาจปลาหยก อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในอนาคต

วันนี้ (2 ก.พ.2566) ไทยพีเอสออนไลน์สัมภาษณ์ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม (siamensis.org) ตั้งข้อสังเกตว่า รู้สึกงง เนื่องจากกรมประมง เป็นผู้ออกประกาศคุมปลาเอเลียนสปีชส์ 13 ชนิดไม่ให้เพาะเลี้ยง ซึ่งรวมถึงปลาเก๋าหยก รวมอยู่ด้วย แต่ทำไมถึงมีการอนุญาตให้บริษัทซีพี นำเข้าและเพาะเลี้ยงเชิงการค้าได้ อยากให้กรมประมงตอบคำถามในประเด็นนี้ต่อสังคม

ดร.นณณ์ กล่าวอีกว่า รวมทั้งอยากให้มีการวิจัยปลาเก๋าหยกด้วยว่า เป็นปลาที่ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้เอง หากหลุดรอดไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพราะตอนนี้เริ่มมีเจอตัวในแหล่งน้ำในพื้นที่ จ.พิษณุโลก ไม่รู้ว่าจากที่ไหน ห่วงว่าจะซ้ำรอยกับปลาหมอสีคางดำ ที่ไม่รู้แม้กระทั่งคนที่นำเข้ามาและคนที่ทำหลุดรอดลามไปในระบบนิเวศ จนเกิดผลกระทบวงกว้าง

ตัวอย่างที่พังมากคือ ปลาหมอสีคางดำที่เพาะขยายพันธุ์ในแหล่งน้ำทั่วประเทศ ลามลงในทะเลจนสร้างผลกระทบต่อนิเวศ กินปลาพื้นเมือง แต่ตอนนี้ยังหาผู้รับผิดชอบนำเข้ามา และไม่สามารถควบคุมได้

ดร.นณณ์ กล่าวอีกว่า ยืนยันว่าไม่ได้แอนตี้ใคร เพียงแต่ต้องการให้กรมประมง และผู้ที่เพาะเลี้ยงเชิงการค้าต้องสร้างความมั่นใจว่าจะไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศของไทย ในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย จะนำสัตว์น้ำชนิดหนึ่งเข้าไปในเชิงการค้า จะมีการศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบก่อนจะอนุญาต 

ขณะที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กในแวดวงสิ่งแวดล้อมหลายคน ยังได้ตั้งคำถามต่อประเด็นนี้เช่นกัน เช่น ดร.สรณรัชฐ์ กาญจนวณิชย์ โพสต์เฟซบุ๊ก Saranarat Oy Kanjanavanit ตั้งข้อสังเกตว่า รู้ได้อย่างไร ว่ามันจะไม่เป็นปัญหาต่อระบบนิเวศธรรมชาติ ถ้ามันหลุดออกไปอย่างปลาหมอคางดำ จะโปรโมทกันก็ขอดูงานวิจัย อภิปรายสาธารณะก่อนดีไหม

ขณะที่ไทยพีบีเอสออนไลน์ สอบถามไปยังกรมประมงเรื่องขั้นตอนการอนุญาตนำเข้าปลาเก๋าหยก โดยคาดว่าจะมีการชี้แจงเร็วๆ นี้ 

อ่านข่าวเพิ่ม กรมประมง สั่งห้ามเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่างถิ่น 13 ชนิด

รู้จัก 13 เอเลี่ยนสปีชีส์ห้ามนำเข้า

ก่อนหน้านี้ กรมประมง เคยเผยแพร่ ประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 พ.ศ.2564 เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร พ.ศ.2564 เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำที่หายาก หรือป้องกันอันตรายมิให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ จึงสมควรกำหนดสัตว์น้ำบางชนิดที่ห้ามเพาะเลี้ยง

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 65 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 รมว.เกษตรและสหกรณ์ ออกประกาศไว้ ห้ามมีให้บุคคลใดเพาะเลี้ยง ซึ่งสัตว์น้ำที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายประกาศนี้ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย

โดยจากบัญชีท้ายประกาศ ประกอบสัตว์น้ำด้วย 13 ชนิด ได้แก่ ปลาหมอสีคางดำ ปลาหมอมายัน ปลาหมอบัตเตอร์ ปลาทุกชนิดในสกุล Cichla และปลาลูกผสม ปลาเทราท์สายรุ้ง ปลาเทราท์สีน้ำตาล ปลากะพงปากกว้าง ปลาโกไลแอทไทเกอร์ฟิช ปลาเก๋าหยก

ปลาที่มีการดัดแปลงหรือตัดแต่งพันธุกรรม GMO LMO ทุกชนิด ปูขนจีน
หอยมุกน้ำจืด หมึกสายวงน้ำเงินทุกชนิดในสกุล Hapalochlaena ทั้งนี้ ห้ามปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติเด็ดขาด ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้าน หรือทั้งจำทั้งปรับ ทำผิดซ้ำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท

รู้จักปลาหยก มาจากออสเตรเลีย 

สำหรับปลาเก๋าหยก ในข้อมูลของ เรื่องดีดี CPF ที่เผยแพร่ว่า ทำไมต้องปลาหยก? ระบุว่า นำเข้าไข่ปลาจากออสเตรเลีย มาเพาะเลี้ยงที่ ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ภายในโรงเรือนระบบปิด พร้อมระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity) ตลอดกระบวนการเลี้ยง ภายใต้การอนุญาตและกำกับดูแลจากกรมประมง

โดยปลาหยกที่มีน้ำหนักประมาณ 600-700 กรัม ระบุว่า มีโอเมก้า 2,483 มิลลิกรัมต่อเนื้อปลา 100 กรัม มากกว่าแซลมอน 3 เท่า บำรุงสมอง เสริมสร้างความจำ และลดความเสี่ยงความดันโลหิตสูง 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง