งานวิจัยจากสหรัฐอเมริกา ที่ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Network Open ได้เปิดเผยว่า ผลการศึกษาข้อมูลของชาวอเมริกันที่อยู่ในระบบแผนประกันสุขภาพของรัฐบาลอเมริกาในระหว่างปี 2005 - 2016 นั้น มีผู้ที่มีอายุมากกว่า 64 ปี ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าจำนวน 1.52 ล้านคน ซึ่งเมื่อทีมวิจัยนำข้อมูลที่อยู่ของผู้สูงอายุมาเปรียบเทียบกับแผนที่มลพิษทางอากาศ ดันปรากฏว่าในเขตพื้นที่มีมลพิษทางอากาศสัมพันธ์กับจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอย่างมีนัยสำคัญ
ในขณะที่อีกฟากหนึ่งของโลก งานวิจัยจากสหราชอาณาจักร ที่ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Psychiatry ยังแสดงให้เห็นว่า เขตที่มีมลพิษทางอากาศมาก สัมพันธ์กับปริมาณผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งข้อมูลนี้ได้มาจากการศึกษาประชากรกว่า 390,000 คน เป็นเวลากว่า 11 ปี
นอกจากความเสี่ยงที่จะเกิดโรคซึมเศร้าแล้ว ฝุ่นเหล่านี้ยังทำให้ทางเดินหายใจเกิดการอักเสบ อนุภาคที่เล็กมากนี้ยังสามารถซึมผ่านเข้าสู่เส้นเลือด และผ่านโพรงจมูกไปยังเส้นประสาทรับกลิ่นที่นำไปสู่สมองโดยตรง ก่อนที่จะเกิดกระบวนการอักเสบในสมองตามมาได้อีกด้วย
โดยมลพิษทางอากาศในเขตเมืองเหล่านี้ ประกอบไปด้วยอนุภาคขนาดเล็กต่าง ๆ เช่น ฝุ่นควันไนโตรเจนไดออกไซด์ที่กำเนิดมาจากท่อไอเสียรถ และโอโซนที่เป็นพิษต่อมนุษย์ ถูกปลดปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรมในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งอนุภาคที่อันตรายที่สุดนั้นคือฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือเรารู้จักกันดีในชื่อของ PM 2.5
งานวิจัยทั้งสองฉบับจากวารสาร JAMA ยังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ผู้คนที่อยู่ในสถานภาพทางทางเศรษฐกิจและสังคมที่ด้อยกว่านั้น มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น เนื่องจากผู้คนเหล่านี้มักต้องเผชิญกับความเครียดทางสังคม สภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ และมลพิษทางอากาศเป็นเวลายาวนานกว่าผู้คนที่อยู่ในสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดีกว่าอีกด้วย
ที่มาข้อมูล: Science Alert , JAMA Network Open
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech