จัดชุดใหญ่ไฟกระพริบ เมื่อ น.ส.นารี ตันฑเสถียร อัยการสูงสุด เซ็นคำสั่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง 6 คดีดัง ประกอบด้วย คดีนายกำพล วิริยะเทพสุภรณ์ หรือ “ตู้ห่าวกับพวก” คดีเผาสวนงูภูเก็ต คดีรุกป่าบริษัท ซี พี เค อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด (บริษัทเครือเปรมชัย) จำกัดกับพวก ถูกกล่าวหาว่ารุกป่าที่จ.เลย จำนวน 6,948 ไร่
จำนวนนี้มี 2 ที่เกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงินพนันออนไลน์ คือ คดีนายแทนไท ณรงค์กุล กับพวก (ฟอกเงินพนันออนไลน์) คดีนายมาวินเบต ดอทคอม (ฟอกเงินพนันออนไลน์) และคดียาเสพติด แมทแอมเฟตามีน 400,000 เม็ดที่ จ.นนทบุรี
นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ยอมรับว่า คดีต่างๆ เหล่านี้ อัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องไปแล้ว แต่ที่ผ่านมาผู้ที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับคดีเข้ามาร้องเรียน จึงเห็นว่ามีผลกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กร อัยการสูงสุด จึงมีคำสั่งให้ทบทวนและตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบคำสั่งเดิมที่เคยออกมาแล้ว เพื่อทำความจริงให้ปรากฎ
รองโฆษกอัยการสูงสุด กล่าวว่า สำหรับทั้ง 6 คดี ไม่ใช่เป็นคำสั่งรื้อคดี แต่เป็นการมอบหมายให้คณะทำงานแต่ละชุดเรียกสำนวนมาดูแล้ว รวบรวมข้อเท็จจริงว่า แต่ละคดีมีการสั่งสำนวนอย่างไร คดีที่อัยการสั่งไปแล้วถูกต้องหรือไม่ สอดคล้องกับพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง พยานบุคคล วัตถุ หรือไม่ ตามไทมไลน์ของแต่ละคดี ซึ่งคณะทำงานต้องดูตามลำดับคดีความในแต่ละชั้นที่มีคำสั่งออกมา
ทุกคดีไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลา แต่อัยการสูงสุดมีคำสั่งว่า หากคณะทำงานชุดใดเรียกเอกสารจากหน่วยงานในสังกัดที่เก็บเอกสาร ประกอบการพิจารณาคดี ให้ส่งเอกสารโดยเร็ว และหัวหน้าคณะทำงานฯ ทุกชุดสามารถให้ข้อมูลเรื่องการตรวจสอบตามที่เห็นสมควรได้
การทำงานของทุกคณะตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ อาจเสร็จไม่พร้อมกัน แต่ทุกชุดจะต้องทำงานให้สิ้นกระแสความเพื่อเสนอรายงานให้อัยการสูงสุดมีคำสั่งออกมา
เชื่อเสร็จทันภายใน 7 เดือน
รองโฆษกอัยการสูงสุด กล่าวว่า การตรวจสอบคดีของคณะทำงานทั้ง 5 ชุดจะเสร็จทันก่อนที่อับการสูงสุดจะเกษียณอายุราชการในอีก 7 เดือน เนื่องจากทุกสำนวนคดีได้พิจารณาสั่งคดีเสร็จแล้วคณะทำงานฯแค่เอากลับมาดู ไม่จำเป็นต้องสั่งคดีใหม่
เหตุผลที่ไม่เอาคนนอกเข้ามาตรวจ ถามว่า คนนอกรู้ระเบียบเรื่องการสั่งคดีอาญาของอัยการ และมีคุณสมบัติมากกว่าคณะกรรมการทั้ง 5 ชุดนี้หรือไม่ ทุกคณะมีหัวหน้าคณะมีรองอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นกรรมการอัยการ (กอ.) มีว่าที่อัยการสูงสุดในลำดับถัดไปดูแลคดีต่อเนื่องจากรายชื่อและคุณสมบัติรับประกันได้
นายโกศลวัฒน์ ยืนยันว่า การทำงานครั้งนี้ ไม่ใช่อัยการสอบกันเอง และช่วยเหลือกันเอง ที่ผ่านมาสำนักงานอัยการสูงสุด ได้ฟ้องเจ้าหน้าที่ภายในองค์กรติดคุกมาแล้วหลายคน นักการเมืองก็ฟ้อง ไม่มีเหตุผลว่า ต้องมาอุ้มชูใคร
คดีที่สังคมเคลือบแคลง โดยเฉพะคดีเผาสวนงูของตู้ห่าว ก็มีคลิปออกมา ดูคลิปแล้ว ไม่ได้มีคำพูดตรงไหนว่า เผาสวนงูและไม่ได้พูดว่าคดีไหน จะบอกว่าดูคลิปแล้วอนุมานว่าเกี่ยวข้องกัน จะเอาความเข้าใจมาตัดสินลงโทษคนไม่ได้ ใจจริงอยากให้เอาผู้ที่นำคลิปมาเปิดเผยมาแสดงตัว เอาหลักฐานมาให้ชัดว่าเป็นคำพูดตู้ห่าว
หากมีหลักฐานใหม่อาจนำไปสู่การรื้อคดี
นายโกศลวัฒน์ กล่าวอีกว่า กระบวนการตามกฎหมาย หลักฐานใหม่จะนำไปสู่การรื้อฟื้นคดี และอัยการจะคิดเองไม่ได้ ต้องทำตามพยานหลักฐาน จากการดูคลิปละเอียดเห็นว่าเขาไม่ได้พูดว่าคดีเผาสวนงู แต่ผู้ที่เอาคลิปมาเปิดเป็นใครก็ไม่ทราบ หากหวังดีจริง คนในคลิปที่พูดเป็นใครเอามาเป็นพยานบุคคลได้หรือไม่ และพูดในคดีอะไร
คลิปที่ปรากฎถือเป็นพยานหลักฐานใหม่ หรือไม่ยังตอบไม่ได้ ต้องเอามาดูก่อนว่าได้อะไรมา จึงจะบอกได้ว่าใหม่หรือเก่า ต้องนำไปเปรียบเทียบกับพยานในสำนวน คลิปมีประโยชน์ แต่ทุกเรื่องต้องเข้าไปสู่กระบวนการจึงต้องชัดเจน เพราะการจะเอาคนเข้าสู่คดีอาญาต้องมีมาตรฐาน
นายโกศลวัฒน์ กล่าวถึงการให้บุคคลภายนอก หรือพยานให้บางคำในแต่ละคดีว่า ขึ้นอยู่กับคณะทำงานของแต่ละชุดว่าจะเชิญใครบ้าง เพื่อให้ได้ความจริงมากที่สุด เมื่อขั้นตอนเสร็จสิ้นคณะทำงานฯ ก็จะทำรายงาน พร้อมข้อเสนอแนะไปยังอัยการสูงสุดต่อไป
ส่วนข้อเสนอแนะจะออกแนวทางไหนนั้น รองโฆษก อสส.บอกว่า ขึ้นอยู่กับคณะทำงาน และใครก็ตาม หากสั่งสำนวนโดยสุจริต แต่สั่งคดีแล้วสังคมไม่ยอมรับ ก็ควรจะมีข้อเสนอแนะว่าจะทำอย่างไร กรณีที่เห็นว่าเรื่องนี้สุจริต แต่สังคมไม่เชื่อถือ ก็ต้องย้อนกลับมามองตัวเองว่า เป็นเพราะเหตุใด
กระบวนการยุติธรรม หากมีผู้ได้ประโยชน์ ก็บอกว่ายุติธรรม แต่หากเสียประโยชน์บอกว่า ไม่ยุติธรรมทุกคดี แม้แต่นักโทษในเรือนจำ จริงๆ คำสั่งนี้ควรมองว่า เป็นหมายเลขที่มีสัญญาณตอบรับจากอัยการสูงสุดแล้ว เพราะไม่ได้เพิกเฉยกับคดีที่สังคมมีข้อเคลือบแคลง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
อัยการสูงสุด สั่งสอบข้อเท็จจริง 5 คดีดัง เผาสวนงู-แทนไท-รุกป่าเลย