"รัสเซียและจีน" ถือเป็น 2 ชาติมหาอำนาจน้องใหม่ที่พยายามเข้าไปฉกชิงพื้นที่อิทธิพลในแอฟริกา แทนที่สหรัฐฯ และยุโรปหลายชาติ ที่ตอนนี้เริ่มลดบทบาทลงในบางประเทศ ซึ่งการสู้รบที่ปะทุขึ้นในหลายเมืองทั่วซูดานตั้งแต่เมื่อวันเสาร์ กลายเป็นโอกาสครั้งใหม่ของมหาอำนาจประเทศต่างๆ ในการเปลี่ยนดุลความสัมพันธ์ในภูมิภาคนี้
ภาพของทหารซูดานลาดตระเวนไปตามท้องถนนในเมือง Port Sudan เมืองท่าติดทะเลแดงทางตะวันออกของประเทศ ท่ามกลางเสียงปืนที่ดังขึ้นไม่ขาดสาย โดยเมืองท่าติดทะเลแดงแห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ที่ไม่ได้สำคัญแค่กับคู่ขัดแย้งในการสู้รบครั้งนี้เท่านั้น
แต่ยังเป็นจุดที่สหรัฐฯ และรัสเซียต่างจับจ้องตาเป็นมันมาตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลังจากกองทัพซูดานใช้ Port Sudan เป็นเหยื่อล่อมหาอำนาจโลก ด้วยการเปิดทางให้รัสเซียสามารถเข้ามาสร้างฐานทัพในเมืองนี้ได้ ซึ่งนักวิเคราะห์บางคน ตั้งข้อสังเกตว่า จุดนี้อาจเป็นสาเหตุให้รัฐบาลอเมริกันยอมซื้อใจซูดาน ด้วยการถอดชื่อของซูดาน ออกจากบัญชีรัฐที่สนับสนุนการก่อการร้าย
ความได้เปรียบหนึ่งที่ทำให้ซูดานตกเป็นเป้าความสนใจของมหาอำนาจ หนีไม่พ้นเรื่องของตำแหน่งที่ตั้ง เพราะอยู่ติดกับทะเลแดง ซึ่งเป็นทางผ่านไปยังคลองสุเอซของอียิปต์ โดยเส้นทางนี้ถือเป็นทางลัดในการลำเลียงสินค้าทางเรือระหว่างเอเชียกับยุโรป ซึ่งครอบคลุมการขนส่งกว่า 1 ใน 3 ของทั้งโลกในแต่ละปี
ส่วนพรมแดนบนแผ่นดินซูดานอยู่ติดกับ 7 ประเทศ โดยต้องจับตามองที่ ลิเบีย สาธารณรัฐแอฟริกากลาง และ เอธิโอเปีย เพราะกำลังเผชิญกับวิกฤตความขัดแย้ง ซึ่งนักการทูตจำนวนหนึ่งออกมาแสดงความกังวลว่า สถานการณ์การสู้รบในซูดานอาจส่งแรงกระเพื่อมทางลบไปยังประเทศเหล่านี้ และบั่นทอนเสถียรภาพทั้งภูมิภาค
แม้ว่าซูดานจะเผชิญปัญหาความขัดแย้งรุนแรงภายในมาโดยตลอด และถูกวิจารณ์จากปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนและไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ประเทศนี้ก็สามารถถ่วงดุลมหาอำนาจและใช้ประโยชน์จากเกมอำนาจนี้ได้ค่อนข้างดีทีเดียว ซึ่งรวมถึงการเตรียมสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล เพื่อให้ช่วยวิ่งเต้นให้สหรัฐฯ ยอมรับการก่อรัฐประหารเมื่อปี 2021
แต่จริงๆ แล้ว อิทธิพลของสหรัฐฯ ในซูดานเริ่มถดถอยลงไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในยุค โดนัลด์ ทรัมป์ นักวิเคราะห์มองว่า รัฐบาลชุดนี้ทิ้งให้พันธมิตรในภูมิภาคเข้ามาจัดการความสัมพันธ์ในซูดานแทน จึงเปิดทางให้ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เข้ามามีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่รัสเซียเองก็กระโดดลงมาเล่นเกมนี้ด้วย
ถ้าถามว่าใครต้องการอะไรในเวทีความสัมพันธ์ซูดาน ตารางนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น โดยสหรัฐฯ ต้องการให้ซูดานมีเสถียรภาพ เพราะเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อการสร้างเสถียรภาพในประเทศอื่นๆ ที่อยู่รอบๆ นอกจากนี้ ซูดานยังมีบทบาทสำคัญในสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ ตลอดช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแลกกับการที่สหรัฐฯ ต้องยอมหลับตาข้างหนึ่งเพื่อปล่อยให้ทหารปกครองซูดาน
ขณะที่การแผ่ขยายอิทธิพลทางทหารของรัสเซียในแอฟริกาชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะบทบาทของบริษัททหารรับจ้าง "วากเนอร์" ที่เข้ามาสานสัมพันธ์กับกองกำลังกึ่งทหารของซูดานก่อนหน้านี้ และได้ประโยชน์จากเหมืองทองคำไปไม่น้อย
จริงๆ แล้ว รัฐบาลซูดานเริ่มกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซียมานานหลายปีแล้ว ตั้งแต่สมัย "โอมาร์ อัล-บาชีร์" ยังไม่ถูกโค่นล้ม เพราะรัสเซียถือเป็นช่องทางหารายได้และจัดหาอาวุธสนับสนุนซูดาน
ความสัมพันธ์นี้ยิ่งแนบแน่นมากขึ้นหลังเหตุรัฐประหารในซูดานเมื่อปี 2021 และการเปิดฉากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งซูดานเป็น 1 ใน 35 ชาติสมาชิก UN ที่งดออกเสียงในมติประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย
จีนถือเป็นอีกหนึ่งตัวแปรในสมการอำนาจนี้ ซึ่งซูดานก็อยู่ในจุดที่มีความสำคัญต่อ Belt and Road Initiative หรือ BRI ซึ่งเป็นโครงการฟื้นฟูเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ของจีนด้วย นอกเหนือไปจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลประโยชน์ในซูดานมีมากขนาดนี้ ยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้มหาอำนาจภายนอกเข้ามาแทรกแซงมากขึ้นด้วย
วิเคราะห์โดย : ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์
อ่านข่าวเพิ่ม :