ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อดีต กมธ.กัญชา-กัญชง ชี้ "ก้าวไกล" ดันสุราก้าวหน้า แต่ผลักกัญชาคืนยาเสพติด

การเมือง
24 พ.ค. 66
13:32
490
Logo Thai PBS
อดีต กมธ.กัญชา-กัญชง ชี้ "ก้าวไกล" ดันสุราก้าวหน้า แต่ผลักกัญชาคืนยาเสพติด
แพทย์ห่วง ปชช.สับสนใช้กัญชารักษาโรคโดยไม่มีงานวิจัยรับรองผล ขณะที่ อดีต กมธ.ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ชี้หาก "ก้าวไกล" นำกัญชากลับสู่บัญชียาเสพติด จะกระทบคนเกือบ 4 ล้านคน อ้างกัญชาเสพติดยากกว่าสุรา-บุหรี่ แต่ปล่อยขายเสรี

วันนี้ (24 พ.ค.2566) ข้อมูลในเดือนมีนาคม จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่า กระทรวงสาธารณสุข ออกใบรับจดแจ้งกัญชาไปกว่า 1,100,000 ใบ จากจำนวนคนที่เข้าไปลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน "ปลูกกัญ" กว่า 1,140,000 คน

ตัวเลขนี้สามารถสะท้อนจำนวนผู้ค้า หรือ ผู้ใช้งานจริงในท้องตลาด ได้มากน้อยเพียงใด?

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เคยประมาณการณ์พื้นที่เพาะปลูกไว้เมื่อปี 256 จากยอดการขอออนุมัติเมื่อเดือนเมษายน 2565 คาดว่ามีอยู่ประมาณ 305 ไร่ ประมาณการณ์มูลค่าโดยรวมของตลาดกัญชา กัญชง จะอยู่ที่กว่า 30,000 ล้านบาทในปีนี้ โดยมูลค่าหลักๆ อยู่ที่ ช่อดอกแห้ง สารสกัดเข้มข้น และกลุ่มยาและอาหารเสริม สิ่งเหล่านี้ มีให้บริการในคาเฟ่กัญชาหลายแห่ง

ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ สาขานิติเวชวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล กรรมการแพทยสภาและนายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย อธิบายถึง ความสับสนในแง่ของการรักษา จากการปลดล็อกกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดและมีข้อกล่าวอ้างในการเอาไปใช้ในทางการแพทย์

ถ้าเป็นแผนปัจจุบันเวลารักษาอะไรก็ตาม ต้องอ้างอิงงานวิจัย ซึ่งเป็นงานวิจัยที่สรุปมาแล้ว กรมการแพทย์บอกว่ารักษาได้ไม่เกิน 6 โรคและต้องไม่ใช่ยาระดับแรก เป็นยาระดับที่ 2 หรือถ้าเป็นแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยเองก็ไม่มีการใช้กัญชาแบบตรงๆ จะนำไปใช้กับอย่างอื่น เป็นสูตรที่หลากหลาย

แต่ถ้ามีคนบอกว่ากัญชาสามารถใช้รักษาโรคนู่นนี่ได้ เช่น โรคเบาหวาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีงานวิจัย เป็นการพูดลอยๆ ขึ้นมาเอง ทำให้มีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย

ถ้าอยากจะใช้ให้ถูกต้อง ก็ต้องไปทำงานวิจัยมา เทียบว่ามันสามารถใช้ได้ เช่น การใช้ยาหลอกสลับยาจริง ความแตกต่างเป็นยังไง ต้องทำงานวิจัยเป็นเชิงประจักษ์ออกมา 

อ่านข่าวเพิ่ม : หลากเสียงสะท้อน ถ้า "กัญชา" กลับเป็นยาเสพติด

มีข้อเห็นต่างในแง่ของผู้ใช้งาน ที่ ปานเทพ พัวพงศ์พัน อดีตโฆษก กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ผู้ผลักดันการใช้กัญชาทางการแพทย์ อ้างถึงการใช้งานนอกเหนือข้อบ่งชี้การแพทย์ ที่ทำให้ลดการใช้ยาแผนปัจุบันลงได้ร้อยละ 58 หากทำให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด จะกระทบคนกว่า 4,000,000 ชีวิต

ข้อเท็จจริงจากนิด้าโพลเมื่อเดือน มิ.ย.2565 มีผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทยประมาณ 3,800,000 คน รวมกับข้อมูลจากศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นโครงการในการติดตามผลประโยชน์จากการใช้กัญชา ในทางการแพทย์ระยะที่ 2 ระหว่างปี 2563-2564 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เราบอกว่า กัญชาก็เป็นยาเสพติดและใช้ทางการแพทย์ได้เท่านั้น

ปรากฏว่ากระทรวงสาธารณสุขที่บอกว่าจ่ายยาตามงานวิจัย ก็จ่ายได้ประมาณเพียงร้อยละ 5 ของการใช้ทั้งระบบ ที่เหลือคือประชาชนแอบใช้กันเอง แปลว่ามีคนประมาณ 3,800,000 คน ใช้อย่างผิดกฎหมาย

นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลที่ประชาชนมีความรู้สึกใช้กัญชาแล้วมีความรู้สึกดีขึ้นถึงดีขึ้นมากประมาณร้อยละ 93 บางคนอาจจะคิดว่าเป็นอาการยาหลอกหรืออุปทาน เป็นต้น แต่ที่น่าสนใจคือร้อยละ 25 ถึงขั้นเลิกการใช้ยาแผนปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นปริมาณที่เยอะมาก

สิ่งสำคัญคือต้องเทียบมาตรวัดระหว่าง กัญชา กับ สุรา และ บุหรี่ งานวิจัยบอกว่ากัญชาเสพติดยากกว่าสุราและบุหรี่ บุหรี่เสพติดทันทีตั้งแต่สูตรมวนแรกถึงร้อยละ 6.8 สุราร้อยละ 22 กัญชาร้อยละ 8.9 แต่ติดยากกว่าสุราและบุหรี่

แต่บุหรี่และสุรา ขายได้ตามร้านสะดวกซื้อ ทำไมไม่ห่วงเด็กและเยาวชนบ้าง
แต่กัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ กลับจะเอากลับไปเป็นยาเสพติด มันขัดแย้งกัน

พรรคก้าวไกล เสนอให้สุราเสรียังไง ก็ควรหลักการเดียวกันกับกัญชา ถ้ากัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์แต่เอากลับไปเป็นยาเสพติดจะมีผู้เสียสิทธิประโยชน์อย่างมหาศาล

วิธีการที่ดีที่สุดคือ การนำกัญชาเข้าสู่ระบบกฎหมายที่ไม่ใช่ยาเสพติด เพราะการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด จะผูกขาดให้กัญชาอยู่กับการใช้ทางการแพทย์และบริษัทยาไม่กี่แห่ง ทำให้ประชาชนต้องซื้อยาในราคาแพงและต้องรองานวิจัยเชิงประจักษ์เท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง