ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิวาทะ "เพื่อไทย-ไทยสร้างไทย" ดีลตั้งรัฐบาลสั่นคลอน

การเมือง
24 พ.ค. 66
22:09
1,803
Logo Thai PBS
วิวาทะ "เพื่อไทย-ไทยสร้างไทย" ดีลตั้งรัฐบาลสั่นคลอน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ศิธา" เผยกรณีวิวาทะ ระบุ ขอโทษไปแล้ว แต่ไม่แน่ใจ "นพ.ชลน่าน" เห็นโพสต์หรือไม่ ยืนยัน ไทยสร้างไทย โหวต นายกฯ จากก้าวไกล-เพื่อไทย

กรณีวิวาทะระหว่าง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ นายศิธา ทิวารี แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคไทยสร้างไทย มีจุดเริ่มต้นจากการตั้งคำถามของนายศิธา ระหว่างการแถลงรายละเอียด MOU ของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล แม้สถานการณ์จะผ่อนคลายลงแล้วหลังนายศิธาออกมาขอโทษ แต่อาจมีบางประเด็นที่ยังมีข้อสงสัยต่อกัน

วันนี้ (24 พ.ค.2566) นายศิธา ทิวารี กล่าวในรายการตอบโจทย์ ไทยพีบีเอส ว่า ขอชี้แจงใน 2 ประเด็น โดยประเด็นแรกคือ การสื่อสารที่ถามไปนั้นต้องการถามทั้ง 8 พรรค แต่การประชุมเริ่มช้า จึงทำให้การแถลงข่าวช้าไปด้วย ประกอบกับคำถามของผู้สื่อข่าวที่มีจำนวนมาก ดังนั้นหากไม่ทันก็ขอถามเฉพาะ 2 พรรคแรกที่มีเสียงร่วม 300 เสียง

เจตนาที่ถาม ตนไม่คิดว่าเขาจะติดขัด เพราะจะมีคนตอบเพียง 2 คน คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ น.ชลน่าน ศรีแก้ว ซึ่งนายพิธาได้ตอบทันที ขณะเดียวกันก็มีคำถามที่นักข่าวฝากถามมา ตนจึงใช้คำว่าฝากร้าน ซึ่งเป็นคำถามเกี่ยวกับเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ก็ได้ย้ำไปว่าข้อหลักคือคำถามของตน ส่วนอีกข้อคือคำถามที่นักข่าวฝากมา

ซึ่งนายพิธา ก็ตอบทั้ง 2 ข้อ ส่วน นพ.ชลน่าน ไม่ได้ตอบในประเด็นที่ตนถาม ตนจึงถามอีกครั้งเพื่อขอให้ นพ.ชลน่าน ได้ตอบคำถามด้วย ซึ่งนายพิธาก็รับไปและหันไปถาม นพ.ชลน่าน ก่อนที่นายพิธาก็จะตอบว่าเป็นไปได้ โอกาสเกิดขึ้นได้ และจากนั้นนายพิธา ก็โยนคำถามไปให้นักข่าวคนอื่นๆ ตนจึงไม่ได้ถามต่อ เพราะถือเป็นมารยาท

ตอนแรกผมเข้าใจว่า ถามไป อาจจะไม่ทันได้ยิน หรือไม่ได้ตอบ หรือข้ามไป พอหนที่ 2 ผมก็ไม่พูดอะไรแล้ว กลับเข้าไปในห้องก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน ทุกคนเจอกันก็ให้กำลังใจกัน แต่ไม่ได้เกี่ยวกับสาระในการถามช่วง MOU

สำหรับคำถาม ตนมองว่าหากถามไป แล้วพรรคทั้ง 8 พรรคบอกว่าจะจับมือกัน เกมมันจะเปลี่ยน ซึ่งตนไม่ได้คิดว่าจะมีท่านใดท่านหนึ่งตรงนั้นไม่ตอบ หรือปฏิเสธ 

นัยทางการเมืองหวั่นมีรัฐบาลเสียงข้างน้อย

เมื่อถูกถามว่า การตั้งคำถามถึง Advance MOU โดยเปรียบเทียบกับการหมั้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเราหมั้นกันอยู่ เพราะอยากให้ยืนยันว่าจะไม่มีใครแตกแถวใช่หรือไม่

นายศิธา ตอบว่า หากจะเปรียบเทียบกับการ "หมั้น" คือ คนอื่นที่จะมาจีบรู้แล้วว่าเราแสดงตัวตน ซึ่งตนยืนยันตั้งแต่แรกในทุกเวทีว่า ตอนนี้ลุงแตกเป็น 2 ฝั่ง ส.ว.แบ่งเป็นคนละครึ่ง ถ้าเกิดลุงคนหนึ่งไม่แอคทีฟ ส.ว.ก็จะรวมกับลุงอีกคนเป็น 250 เสียง หรืออาจจะมีคนที่เห็นกระแสสังคมแล้วหลุดไป 20-30 คน เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ยังมีนัยว่าเขาสามารถตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้

ถ้าเกิดจะตั้งแบบนั้น เขาก็จะใช้วิธีที่รองนายกฯ วิษณุ พูด คือเมื่อตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยเสร็จ ก็จะดึงคนโน้นคนนี้เข้ามาร่วม ประชาธิปไตยก็ไม่ไปไหน

หลักการคิดที่ตนถามมาจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งนายจาตุรนต์ ฉายแสง ที่คร่ำหวอดในแวดวงการเมืองและเห็นภาพการเมืองทะลุปรุโปร่ง ได้ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยไม่ไปไหน และหากต้องเป็นฝ่ายค้าน ก็จะเป็นฝ่ายค้านร่วมกับก้าวไกล เป็นฝ่ายค้านเสียงข้างมาก

หากตอบคำถามมา เกมประชาธิปไตยจะไม่พลิก ใครมาจีบก็จะลำบาก เพราะเรารวมกัน แม้ฝั่งเสียงข้างน้อยจะได้ตำแหน่งนายกฯ แต่มี ส.ส.ไม่ถึง 200 คน ซึ่งนายจาตุรนต์ได้อธิบายไว้ชัดเจนว่า เต็มที่อยู่ได้ประมาณ 1 ปี หากยังดื้อดึงจะบริหารประเทศ

"ผมไม่เล่นกับคุณ ผมจะเล่นเกมประชาธิปไตย ประชาชนกว่า 60% เลือกพวกผม แล้วผมก็จะตอบเจตนารมณ์ของประชาชนด้วยการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน แต่ถ้าคุณจะดึงเอาเกมของเผด็จการมาใช้ คุณเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย บริหารประเทศไม่ได้ อีก 1 ปีก็โดนอภิปรายไม่ไว้วางใจและก็หลุดหมด"

เรื่องนี้เป็นมุมที่คนพรรคเพื่อไทยนำเสนอไอเดีย ตนเห็นว่าใช่และคิดว่าหากเป็นแบบนี้ก็ไปได้ แล้วจะพลิกเกมกลับมา แต่กลับมีมุมมองเรื่องของมารยาทเกี่ยวกับการตั้งคำถาม หรือการบีบบังคับให้ต้องตอบ ซึ่งตนได้โพสต์ขออภัยและขอโทษแล้ว ต่อไปจะเดินหน้าด้วยกันและจะไม่ล้ำเส้น

ไม่ได้ถามยั่วเพื่อให้เป็นประเด็น แต่หากถามมาแล้วก้าวไกลบอกเป็นไปได้ และสมมุติว่าเพื่อไทยบอกเป็นไปได้ อีก 6 พรรคที่เหลือ เชื่อว่าจะตอบเหมือนกัน หากเป็นแบบนี้เกมพลิกเลย

เมื่อถูกถามว่าการตั้งคำถามวันนั้นผิดที่ผิดทางหรือไม่ หรือควรเป็นหน้าที่นักข่าว นายศิธา ตอบว่า นายพิธา เป็นประธานในที่ประชุม เป็นเสียงข้างมากและเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นการให้เกียรติประธานและสื่อสารกับประธาน โดยครั้งที่ 2 ถามไป ประธานก็ตอบมาและหันไปคุยกับ นพ.ชลน่าน ก่อนจะตอบอีกครั้ง จากนั้นก็ให้สื่ออีกคนถาม ซึ่งตอนนั้นคิดว่าคงข้ามไปเลยและปล่อยไป หลังจากนั้นเมื่อเข้าไปนั่งในห้องกินข้าวประมาณชั่วโมงครึ่งก็ไม่มีประเด็นอะไรและไม่ได้โกรธกัน 

เป็นข้อสงสัยว่าไปฟังอะไรใครมา

หลังจากเซ็น MOU 1-2 วัน กรณีดังกล่าวกลายเป็นประเด็นขึ้นมานั้น นายศิธา กล่าวว่า ไม่มั่นใจในไทม์ไลน์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่แน่ใจว่า นพ.ชลน่าน ไม่ได้เห็นที่ตนขอโทษหรือไม่ ซึ่งถ้าเห็นว่าขอโทษไปแล้ว แต่ยังมีคำเหล่านี้อยู่ก็รู้สึกว่ารุนแรง 

ซึ่งมองว่าคุยกันอยู่ดีๆ ทำไมถึงได้โมโหขนาดนี้ เลยเป็นประเด็นกันขึ้นมา เลยเป็นข้อสงสัยว่าไปฟังอะไรใครมาหรือไม่

ทั้งนี้หลังจากโพสต์ดังกล่าวซึ่งถ้ามองว่าเป็นการเสียมารยาท ก็เป็นมุมมองแต่ละคน ซึ่งเจตนาต้องการสื่อถึง ส.ว. เพื่อต้องการให้ประชาธิปไตยเดินหน้า

141 ของเพื่อไทย กับ 6 เสียง ของไทยสร้างไทย

นายศิธา ยังกล่าวถึงประเด็น 141 กับ 6 เสียง ว่าพูดมาตลอด ว่าพรรคก้าวไกล กับ เพื่อไทย จับมือกัน การจับมือกันตั้งรัฐบาลโดยมี 4 คนที่เป็นแคนดิเดต สามารถเป็นนายกฯ ซึ่งต้องไปคุยกันว่าสนับสนุนใครเป็นนายกฯ ในส่วนของพรรคไทยสร้างไทยก็พร้อมยกมือสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล

และถ้าต้องการเสียงของพรรคไทยสร้างไทยไปหนุนให้มีจำนวนมากขึ้น ถ้าไม่สบายใจกับตัวผม พรรคไม่เกี่ยว คุณก็เอาพรรคไปเลย ผมพร้อมลาออกจากพรรค และก็จะไม่ยุ่ง ซึ่งผมพูดคำไหนคำนั้น

อ่านข่าว เลือกตั้ง2566 : บานปลาย "ศิธา" ลั่นพร้อมลาออกหากเป็นตัวเดดล็อกตั้งรัฐบาล

MOU สะเด็ดหรือยัง

นายศิธา กล่าวว่า ในที่ประชุมในวันเซ็น MOU ในส่วนพรรคประชาชาติก็ไม่ได้มีประเด็นอะไร มี 2 ประเด็นที่เกี่ยวกับศาสนา คือ สมรสเท่าเทียม และ สุราก้าวหน้าที่ต้องสงวนได้ เพราะติดเรื่องหลักศาสนา

และที่ประชุมต่างรู้กันหมดว่า MOU มีบางข้อที่งงๆ ไม่ถึงกับขัดแย้ง อาจจะเป็นข้อที่สงวนแต่ไม่ได้มีความเห็นต่าง

ที่จะบอกว่าเป็นปัญหาก็ไม่ใช่ แต่เป็นการหาทางออกเพื่อให้ MOU ฉบับสมบูรณ์ และเป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอย่างเท่าเทียมกัน ทุกพรรค

"ประธานสภา" จะมีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่

เป็นเรื่องของ 2 พรรคใหญ่ที่ต้องพูดคุยกัน แต่โดยหลักการการจัดตั้งรัฐบาล คนที่ได้คะแนนมากที่สุดจะไปเป็นประธานสภา คนที่ได้ที่ 2 ก็เป็นรอง แล้วแต่การตกลงกัน เพราะเมื่อปี 62 ก็ตกลงกันว่าคุณธนาธรได้เสียงน้อยกว่าเพื่อไทย ก็ให้เป็นนายกฯ แต่พอถึงเวลาก็พลิกกลับไปกลับมากัน สุดท้ายกลายเป็นว่าฝ่ายรัฐบาลที่ได้เสียงข้างมากก็ไม่ได้เป็นประธานสภา

สังคมมองว่า ยังมีโอกาสที่ "เพื่อไทย" จะเปิดประตูดีลกับพรรคลุง

ในสายตา "ศิธา" มองว่า เป็นเรื่องนานาจิตตัง เพราะเราเห็นสังคมรู้สึกแบบนี้ จึงอยากให้สังคมยืนยันว่า 8 พรรคร่วมเป็นแบบนี้ เพื่อให้สังคมคลายความกังวล แต่ขอไม่ลงรายละเอียดมากไปกว่านี้ ทุกวันนี้ตนเพียงแค่แสดงความคิดเห็นในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ซึ่งก็เสนอความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาเพียงเท่านั้น แม้กระทั่งในช่วงหาเสียง ก็ยอมรับว่าหาเสียงให้กับทุกพรรคฝ่ายค้านเดิม สามารถตรวจดูได้จากสื่อออนไลน์ของตนเอง

เหนื่อยไหมกับการเป็นผู้สื่อสารในฝั่งประชาธิปไตย?

ไม่เหนื่อย แต่ถ้าฝ่ายเดียวกันและกองเชียร์มองว่า ผมไปจุ้นจ้าน ไปยุ่ง ไม่มีมารยาท ก็อาจจะเบาลง แต่ขณะเดียวกัน ก็มีคนทั่วๆ ไปที่ขอให้เป็นปากเป็นเสียงให้ ก็จะพยายามบาลานซ์ตัวเอง

ยืนยันว่าไม่อยากเป็นเงื่อนไขของใคร ก็ลบเงื่อนไขด้วยการไม่ต้องเอาเข้าร่วมรัฐบาลเลย

ผมปลื้มในความเป็นรัฐบาลของทั้งก้าวไกลและเพื่อไทย ถ้าจะเอา "ไทยสร้างไทย" ไปร่วม แล้วรู้สึกว่าผมทำงานร่วมกับหัวหน้าพรรคเพื่อไทยไม่ได้ ผมพร้อมออกจากพรรค และยินดีให้ทุกฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลของตัวเองไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

เลือกตั้ง2566: "ถ้าชกได้ผมชกไปแล้ว" นพ.ชลน่าน เดือดต่อถูก "ศิธา" กล่าวหารับบรีฟ

เลือกตั้ง2566 : “ศิธา ทิวารี” เป็นใคร? 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง