LGBTQ+ กับสีรุ้ง
กลุ่ม LGBTQ+ เป็นกลุ่มของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งก็เข้ากับ "สีรุ้ง" ที่เป็นการรวมตัวกันของหลากหลายสี กิลเบิร์ต เบเกอร์ (Gilbert Baker) ศิลปินชาวอเมริกันและนักขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนของเกย์ (ในขณะนั้น ใช้คำว่า เกย์ แทนกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ) คือผู้รังสรรค์ "ธงสีรุ้ง - Rainbow Flag หรือ Pride Flag" ขึ้นมาในปี 1978 โดยใช้แรงบันดาลใจจากเพลงคลาสสิก "Over the Rainbow" จากภาพยนตร์เรื่อง The Wizard from Oz ในปี 1939
Gilbert Baker ผู้คิดค้นธงสีรุ้ง
ธงสีรุ้ง โดยฝีมือของ เบเกอร์ ชิ้นแรกมีขนาดยาว 30-60 ฟุตโดยประมาณ เบเกอร์ เคยให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่า เขาเย็บธงนี้ด้วยมือของตัวเองคนเดียวอย่างภาคภูมิใจ มันเปรียบเสมือนตัวแทนความปิติยินดีของพวกเรา เป็นพลังงาน ความงาม และคุณค่าในชาวเรา และเขารู้สึกมีความสุขที่ได้เห็นผู้คนยิ้มตามเมื่อเห็นธงของเขา
อย่างไรก็ตาม เบเกอร์ผู้สร้างสรรค์ ธงสีรุ้ง ได้จากไปในปี 2017 และทุกๆ เดือนมิถุนายน จะมีพิธีรำลึกถึง กิลเบิร์ต เบเกอร์ ที่ซานฟรานซิสโก และ มหานครนิวยอร์ก
Baker เย็บผ้าทั้ง 8 สีเป็นผืนยาวเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย
- สีชมพู Hot Pink สื่อถึงเรื่องเพศ
- สีแดง สื่อถึงชีวิต
- สีส้ม สื่อถึงการเยียวยา
- สีเหลือง สื่อถึงแสงอาทิตย์ที่ส่องสว่าง
- สีเขียว สื่อถึงธรรมชาติ
- สีฟ้า Turquoise สื่อถึงเวทมนตร์
- สีน้ำเงินม่วง สื่อถึงความสามัคคี
- สีม่วง สื่อถึงจิตวิญญาณอันแน่วแน่
ความหมายของสีทั้ง 8 ในธงสีรุ้ง
แต่ต่อมามีการลดจำนวนของสีบนธงลงเหลือเพียง 6 สี โดยถอดสีชมพู Hot pink และ สีฟ้า Turquoise ออก เพราะยากต่อการผลิต
นอกจากเหตุผลข้างต้นแล้ว "ธงสีรุ้ง" ยังมีความสำคัญอีกข้อคือ สดุดีแก่ ฮาร์วีย์ มิลค์ (Harvey Milk) เพื่อนของ เบเกอร์ ซึ่ง มิลค์ เป็นเกย์คนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในรัฐแคลิฟอร์เนีย
ธงนี้จึงกลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวังของชาว LGBTQ+ ทั่วโลก
อ่าน : "Pride Month" เดือนแห่งความภาคภูมิใจ ในความหลากหลายทางเพศที่เท่าเทียมของ LGBTQ+
นอกจากธง 6 สี แล้ว ยังมีรูปแบบของธงเพิ่มขึ้นอีกมากมาย เพื่อเป็นตัวแทนและสัญลักษณ์แห่งความหลากหลาย เช่น ธงโพรเกรส หรือ ธงไพรด์ยุคใหม่ ที่ถูกคิดค้นเมื่อปี 2018 โดยมีบั้งแถบสีผสมต่างๆที่มีพื้นฐานสีมากจากธงไพรด์ มีจุดมุ่งหมายเน้นย้ำถึงการตระหนักรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศและชาติพันธุ์
ธงไพรด์ หรือ ธงสีรุ้งยุคใหม่