ปีนี้ทางกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ในวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งจะช้ากว่าปกติประมาณ 1 สัปดาห์ มีผลมาจากปรากฏการณ์ เอลนีโญ
ทั้งนี้ในช่วงประมาณกลางเดือน มิ.ย. ถึงกลางเดือน ก.ค. คาดการณ์จะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง นั่นก็หมายความว่า แม้จะเข้าสู่ฤดูฝน แต่ฝนจะตกน้อยลง ซึ่งเป็นสัญญาณของความแห้งแล้ง และจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ผู้ใช้แรงงาน
คนก่อสร้างเผชิญอากาศร้อน
สองมือที่ปาดเหงื่อบนใบหน้า ท่ามกลางการทำงานท้าแสงแดดที่ร้อนจัด ของ สุมล อับดุลเลาะ ช่างรับเหมาก่อสร้าง วัย 58 ปี สะท้อนให้เห็นความเจิดจ้าของพระอาทิตย์ยามเที่ยงที่ไม่แผ่วลง
สุมล อับดุลเลาะ ช่างรับเหมาก่อสร้าง
สุมล ไม่เคยรู้จักว่าปรากฏการณ์เอลนีโญ หรือ ลานีญา เป็นอย่างไร รู้สึกเพียงว่า ปีนี้อากาศร้อนอบอ้าว
สุมล เล่าว่า ทำอาชีพรับเหมาก่อสร้างมานานกว่า 20 ปี แต่อากาศปีไหนๆ ก็ไม่ร้อนเท่าปีนี้ จึงต้องปรับเวลาการทำงานตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อเลี่ยงช่วงเวลาที่แดดร้อนจัด จากเวลาเริ่มงาน 08.00 น. พักเที่ยง 12.00-13.00 น. และเลิกงานในเวลา 17.00 น.
แต่ทุกวันนี้ต้องปรับเวลาการทำงาน โดยเริ่มทำงานให้เช้าขึ้น เป็นเวลา 07.00 น. และพักเที่ยงตั้งแต่เวลา 12.00 น. จนถึง 14.00 น. โดยจะยืดเวลาในการพักเที่ยงให้มากขึ้น ลดการเผชิญกับอากาศร้อน และ แสงแดด ก่อนจะไปเลิกงานในเวลา 17.00 น. เช่นเดิม
เมื่อทำงานกลางแสงแดดจัด สุมล บอกว่า ต้องเตรียมพร้อมอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด ทั้งหมวกไอ้โม่ง เสื้อผ้าที่ระบายอากาศ กางเกงขายาว ปลอกแขน และไม่สวมเสื้อผ้าหลายๆ ชั้น เพราะจะทำให้ร้อนมากขึ้น
คนงานก่อสร้าง ท่ามกลางอากาศร้อน
ระหว่างการทำงานต้องจิบน้ำบ่อยๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ จะมีบ้างที่รู้สึกเพลียแดดแต่ก็อาศัยการพักผ่อนเยอะๆ ไม่นอนดึก
ถ้ารู้สึกทำงานไม่ไหวก็หลบเข้าที่ร่ม พักผ่อน กินน้ำกินท่า แล้วถึงค่อยออกไปทำงานต่อ กลัวเหมือนกัน กลัวจะเป็นฮีทสโตรกตามที่เป็นข่าว
บ่ายสองแล้ว ได้เวลาเริ่มงานอีกครั้ง หลังพักเที่ยง และนอนพักเอาแรง กระติกน้ำเย็นๆ เต็มกระติก ถูกนำติดตัวไปขึ้นบนคานก่อสร้าง วันนี้ต้องเทปูนเสาบ้าน 2 ชั้น ที่รับสร้างระยะเวลา 4 เดือน หลังเสร็จสิ้นก็ต้องหางานรับก่อสร้างตามสถานที่อื่นๆ ต่อไป
คนงานก่อสร้าง ท่ามกลางอากาศร้อน
หน้าร้อนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อทำงานเท่านั้น แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ตามมาด้วย สุมล บอกว่า บ้านพักจะไม่มีแอร์ จึงต้องเปิดพัดลม โดยเฉพาะช่วงวันหยุดต้องเปิดตลอดเวลา ค่าไฟฟ้าจากที่เคยจ่ายเดือนละ 400-500 บาท เพิ่มเป็น 700-800 บาทต่อเดือน
สุมล มองว่าประเทศไทยมีอากาศที่แปรปรวนขึ้น ตั้งแต่เกิดมาเพิ่งเคยเห็นลูกเห็บแค่ครั้งเดียวเมื่อตอนยังเป็นเด็ก ช่วงหลังมานี้ฝนตกแต่ครั้งจะมีลมแรงเหมือนเป็นพายุ ทั้งลูกเห็บ ทำให้เห็นลูกเห็บได้บ่อยขึ้นกว่าแต่ก่อน
อากาศแปรปรวนส่วนหนึ่งเกิดจากฝีมือมนุษย์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม
แม้ฤดูร้อนจะเป็นอุปสรรคต่อคนที่ทำงานกลางแจ้ง แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนก็เป็นปัญหาใหญ่ สุมล บอกทิ้งท้ายว่า อาชีพก่อสร้างหน้าร้อนยังพอหลบแดดทำงานได้ แต่หน้าฝนก็ต้องหยุดทุกอย่าง งานไปต่อไม่ได้เลย ต้องหยุดชะงักทันที
"คนนาเกลือ" สู้ชีวิตกลางแดดระยับ
ทำนาเกลือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ต้องพึ่งดินฟ้าอากาศเป็นหลัก และได้ผลกระทบโดยตรงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ที่ไม่ได้เป็นไปตามฤดูกาล
บุญคล้าย รักษาสุข ชาวบ้าน จ.สมุทรสงคราม อาชีพทำนาเกลือ บอกว่าปีนี้อายุ 66 ปีแล้ว ยึดอาชีพทำนาเกลือตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ ก่อนหน้านี้เคยเป็นลูกจ้างทำนาเกลืออยู่ในพื้นที่ไม่ห่างจากบ้าน แต่ปัจจุบันมาเช่าพื้นที่เพื่อทำนาเกลือประมาณ 15 ไร่ ผลผลิตปีที่ผ่านมาได้เกลือน้อยมากเพราะฝนตกเยอะทำให้ขาดทุน ต้องไปกู้หนี้มาทำนา
บุญคล้าย รักษาสุข อาชีพทำนาเกลือ
บุญคล้าย บอกว่า ปีที่แล้วต้องกู้ยืมเงินมาทำนาเกลือ แต่ต้องประสบปัญหากับฝนตกเยอะ ทำให้เกลือได้ปริมาณน้อย แม้ว่าราคาจะสูงถึงตันละเกือบ 2,000 บาท เพราะเกลือขาดตลาด แต่ก็ไม่มีเกลือจะขาย ทำให้ขาดทุนไปหลายหมื่นบาท
ปีที่แล้วแย่มาก เกลือได้น้อย เพราะฝนตกเยอะ ทำให้ขาดทุน
บุญคล้าย บอกว่า สำหรับคนที่มีทุนเยอะอาจจะเก็บเกลือไว้ขายในช่วงที่มีราคาสูง แต่เขาไม่ได้เก็บเกลือไว้ในสต๊อกมากนัก ทุกๆ วันก็จะเก็บดอกเกลือได้ก็ทยอยขาย ปีนี้อากาศร้อน แล้ง ทำให้ได้ผลผลิตเกลือมากกว่าปีที่ผ่านมา แม้ราคาขายจะถูกลงกว่าเดิมก็ตาม ทั้งนี้ถ้าอากาศร้อนจัดเกินไป จะทำให้เกลือกรอบ คือเกลือมีน้ำหนักเบา ซึ่งอากาศที่เหมาะกับนาเกลือคือต้องมีทั้งแดดและลมที่พอดีกัน
นาเกลือ จ.สมุทรสงคราม
ทุกวัน บุญคล้ายออกจากบ้านมานาเกลือพร้อมกับภรรยา ตั้งแต่ 08.00 น. และจะอยู่จนถึงเย็น ปัจจุบันอาชีพทำนาเกลือเหลือน้อยลงกว่าในอดีต เพราะเป็นงานหนักต้องอยู่ท่ามกลางแดดจัดคนรุ่นใหม่จึงไม่นิยมสานต่ออาชีพของบรรพบุรุษ หันไปทำอาชีพอื่นกันหมด
กลางวันแดดร้อนจัดมาก ลุงเคยมีอาการหน้ามืด ก็ต้องเข้ามาเพิงพักหลบแดด มานาเกลือ ต้องก้มๆ เงยๆตลอด บางครั้งหน้ามืด ก็ต้องพกยาหอม ยาดม ติดตัวตลอดเวลา
นาเกลือ จ.สมุทรสงคราม
จิตอาสาโบกรถ "สู้แดด" บริการนักท่องเที่ยว
ณัฐพล สินทอง อายุ 55 ปี อาสาสมัคร สภ.ต.บางโทรัด จ.สมุทรสาคร ที่คอยโบกรถให้กับนักท่องเที่ยวและประชาชนที่มาวัดกาหลง ในวันเสาร์ - อาทิตย์ หรือวันที่ว่างจากงานประจำ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 15.00 น.
อากาศปีนี้ร้อนกว่าปีที่แล้วขึ้นเท่าตัว เหมือนกับว่าเหมือนกับว่าเตาอบหรือมีพระอาทิตย์สองดวง
ณัฐพล เล่าว่า ช่วงหน้าร้อนต้องดื่มน้ำบ่อยๆ ปกติก็ไม่ค่อยดื่มน้ำเย็น แต่ตอนนี้ก็ดื่มน้ำเย็นมากขึ้น ถ้าอากาศร้อนจัดก็หลบเข้าที่ร่ม
ณัฐพล สินทอง อาสาสมัคร
เมื่อประมาณ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมาแดดจัดมากจนเกิดอาการหน้ามืด ก็ต้องนั่งพัก และดื่มน้ำ เคยได้ยินข่าวมีคนเสียชีวิต ก็กลัวเหมือนกัน เนื่องจากเป็นคนมีโรคประจำตัวต้องดูแลร่างกายเป็นพิเศษ และที่สำคัญต้องพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะเคยได้เห็นข่าวคนเสียชีวิตจึงต้องระวังมากกว่าปกติ
พ่อค้า-แม่ค้า สู้รับอากาศเปลี่ยนแปลง
การทำงานท่ามกลางสภาพอากาศร้อนอบอ้าว ทุกคนไม่ได้รับผลกระทบ ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่มีอาชีพค้าขาย ขายของอยู่ในตลาดสด ซึ่งเป็นที่ร่มก็จริง อากาศร้อนก็ส่งผลต่อสินค้า โดยเฉพาะผักและผลไม้
โต้ อายุ 47 ปี พ่อค้าขายผักตลาดประชานิเวศน์ 1 บอกว่า ต้องมาตลาดทุกวันตั้งแต่ 05.00 น. กว่าจะกลับเข้าบ้าน ก็ 1-2 ทุ่ม แม้ในตลาดมีหลังคาบังแดด แต่อากาศก็ร้อนอบอ้าว มีพัดลมที่ช่วยระบายความร้อน การดื่มน้ำเย็นเและล้างหน้าบ่อยๆ ก็พอช่วยบรรเทาได้ระดับหนึ่ง
อากาศร้อน เกษตรกรขาดน้ำ ผลผลิตได้ผลไม่เต็มที่และออกสู่ท้องตลาดน้อย ทำให้พืชผักหลายชนิดปรับราคาสูงขึ้น ผักที่ซื้อมาวางขายต้องปรับราคาขึ้นตามต้นทุนไปด้วย ทำให้ภาระไปตกกับผู้บริโภค ต้องใช้เงินเพิ่มขึ้น การซื้อจึงน้อยลงและใช้เท่าที่จำเป็น
พ่อค้าตลาดประชานิเวศน์ 1
ไม่ต่างจากแม่ค้าขายหมูที่อยู่แผงถัดไป เล่าว่า บ่อยครั้งที่ต้องตื่นมาอาบน้ำกลางดึกเพราะที่บ้านไม่มีแอร์ มาขายของที่ตลาดก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะต้องใช้ตู้แช่เย็นหมูตลอด 24 ชั่วโมง จากเดิมที่เปิดเฉพาะช่วงกลางวันเท่านั้น
“ค่าไฟฟ้าเดิมจ่าย 1,700-1,800 ต่อเดือน เพิ่มขึ้นมาเป็น 2,800 - 2,900 บาทต่อเดือน และช่วงหน้าร้อน คนที่เคยเดินตลาดส่วนหนึ่งเข้าห้างสรรพสินค้าเพิ่มขึ้น ทำให้รายได้ของพ่อค้า-แม่ค้าลดลงไปด้วย” แม่ค้าขายหมูตลาดสดประชาชื่น กล่าว
สภาวะโลกร้อน อากาศแปรปรวน คืบคลานเข้ามาทุกขณะ แม้จะยากเกินกว่าที่คนหาเช้ากินค่ำจะเข้าใจได้ สิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นจะรับรู้ได้ คือ การเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เมื่อโลกเปลี่ยน มนุษย์ก็ต้องปรับตัวยอมรับ และสู้ชีวิตต่อไป ท่ามกลางธรรมชาติที่เกินจะคาดเดา
"ติดตามสถานการณ์สภาพแวดล้อม ภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปกับไทยพีบีเอสใน 1.5 องศาจุดเปลี่ยนโลก"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
โลกร้อนพ่นพิษ นับถอยหลัง 30 ปี ปะการังทั่วโลกตาย 90 %
PM 2.5 ยังวิกฤต “ผอ.กรีนพีซ” ชี้ทุกภาคส่วน ทั้ง “รัฐบาล-ประชาชน-กฎหมาย” ต้องช่วยแก้
โลกร้อน “ลานีญา” สลับขั้ว "เอลนีโญ"ไทยเผชิญฝนน้อย-แล้งยาว 19 เดือน