วันนี้ (13 มิ.ย.2566) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนโรคภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูฝน ได้แก่
โรคติดต่อทางเดินหายใจ
- โรคไข้หวัดใหญ่ พบได้ทุกกลุ่มอายุ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว
- โรคปอดอักเสบ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย พบผู้ป่วยได้ทุกกลุ่มอายุ ติดต่อทางการสัมผัสน้ำมูก น้ำลายหรือไอจามรดกัน
ทั้ง 2 โรคป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำร่างกายให้อบอุ่น หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องคลุกคลีกับผู้อื่น
โรคติดต่อจากการสัมผัส
- โรคมือ เท้า ปาก โรคติดต่อที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก จากการสัมผัสโดยตรงกับน้ำมูก น้ำลาย ผื่น ตุ่มน้ำใส หรืออุจจาระของผู้ป่วย อาการผู้ป่วยคือ จะมีแผลหรือตุ่มในช่องปาก กระพุ้งแก้ม มีผื่นแดงหรือตุ่มบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่แขน ขา หรือก้น ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและหายเองได้
- โรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคไข้ฉี่หนู เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน พบได้ทุกเพศทุกวัย แต่จะพบบ่อยในผู้มีอาชีพเกษตรกรรมที่ต้องสัมผัสกับดินหรือน้ำอยู่เป็นประจำ อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ตาแดง และปวดกล้ามเนื้อน่องอย่างรุนแรง การป้องกันคือ หลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องลุยน้ำย่ำโคลนเป็นเวลานาน หากจำเป็นควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมทุกครั้ง เช่น สวมรองเท้าบูทยาว ถุงมือยาว
- โรคเมลิออยโดสิส ติดเชื้อจากการสัมผัสดินหรือน้ำเป็นเวลานาน หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป กลุ่มเสียง คือ ผู้ที่ทำงานสัมผัสดินน้ำโดยตรง เช่น เกษตรกรและผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว
โรคติดต่อนำโดยยุงลาย
- โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก มีจุดแดงที่ผิวหนัง หากอาการรุนแรงจะเกิดภาวะช็อกได้
- โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยา เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา มียุงลายสวน และยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค พบได้ทุกกลุ่มอายุ อาการจะคล้ายกับโรคไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีอาการช็อก
- โรคติดเชื้อไวรัสซิกา เกิดจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกากัด การถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ทารกในครรภ์หรือระหว่างการคลอด การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสซิกา หลังได้รับเชื้อจะแสดงอาการได้เร็วที่สุด 3 วัน และช้าที่สุด 12 วัน โดยเฉลี่ยอยู่ในช่วง 4-7 วัน อาการมีไข้ต่ำๆ มีผื่นแดงตามบริเวณลำตัวและแขนขา รวมถึงอาจมีผื่นที่ฝ่ามือได้ เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ อาจมีต่อมน้ำเหลืองโต และอุจจาระร่วง
ภัยสุขภาพ
- การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการถูกฟ้าผ่า เมื่อมีฝนตกฟ้าคะนองให้หลบในที่ปลอดภัย เช่น อาคารขนาดใหญ่ ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือกลางแจ้งในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เนื่องจากจะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าเข้ามาในโทรศัพท์มือถือได้
- อันตรายจากการกินเห็ดพิษ หากไม่มั่นใจว่าเป็นเห็ดพิษ หรือเห็ดที่กินได้ ไม่ควรนำมากิน หรืออาจเลือกเห็ดที่มาจากการเพาะขยายพันธุ์ เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง เป็นต้น
- อันตรายจากการถูกงูพิษกัด ควรจัดบ้านให้สะอาด ไม่ให้เป็นที่หลบซ่อนของสัตว์มีพิษ ระวังเมื่อต้องเข้าไปในที่รก กอหญ้า หรือกองไม้ หากถูกงูพิษกัดต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที และจำลักษณะชนิดของงูที่กัด เพื่อการให้เซรุ่มพิษงูได้ถูกต้องและรวดเร็ว