ความโดดเดี่ยวของ "คาวาน" ช้างเพศผู้วัย 30 ปีที่ต้องอาศัยอยู่เพียงลำพังในสวนสัตว์กรุงอิสลามาบัด ประเทศปากีสถาน ถูกพังทลายลงในปี 2558 เมื่อ ซามาร์ ข่าน สัตวแพทย์จากสหรัฐอเมริกา ขณะเดินทางท่องเที่ยวที่ปากีสถานและได้เจอกับพฤติกรรมการส่ายหัวไปมาตลอดเวลาของ "คาวาน" ซึ่งนั่นคือสัญญาณความผิดปกติของช้าง
ซามาร์ ตัดสินใจเปิดแคมเปญบนโลกโซเชียล เพื่อปลดปล่อยคาวานผ่าน Twitter และ Change.org และสามารถรวบรวมรายชื่อผู้เห็นด้วยได้กว่า 400,000 รายชื่อ และ 1 ในเสียงที่ทรงพลังและสามารถผลักดันเรื่องการปลดปล่อยคาวานให้องค์กรปลดปล่อยสัตว์ป่า (Free the wild) เข้าร่วมได้คือ "แชร์" นักร้องเสียงทรงพลังชาวสหรัฐอเมริกา
แชร์ ส่งข้อความไปหาเพื่อน "มาร์ค โควน์" เจ้าขององค์กรปลดปล่อยสัตว์ป่าที่เคยส่งช้างแอฟริกาจำนวนมากคืนสู่ป่า ให้เข้าร่วมภารกิจปลดปล่อย คาวาน แต่ดูเหมือนแรงกดดันเกือบ 5 ปีของผู้มีชื่อเสียงและองค์กรระดับโลกจะทำได้เพียง การยอมปลดโซ่ที่ล่าม คาวาน ออกจากขา ทำสภาพแวดล้อมในคอกของ คาวาน ให้สะอาดขึ้น ยอมให้ คาวาน ลงเล่นน้ำมากขึ้นจากสวนสัตว์ เท่านั้น
มันยากมากจริงๆ ในช่วงแรก ฝ่ายบริหารสวนสัตว์ไม่ยอมคุยกับเราด้วยซ้ำ
พวกเขาไม่ใจดี พวกเขาไม่สนใจ พวกเขาไม่สนใจจริงๆ
แชร์ ยอมรับกับสื่อ Smithsonian ขณะที่เล่าเรื่องราวให้ความพยายามปลดปล่อย "คาวาน ช้างผู้โดดเดี่ยวที่สุดในโลก"
"คาวาน" ช้างผู้โดดเดี่ยวที่สุดในโลก
คาวาน เกิดในประเทศศรีลังกาเมื่อปี 2528 เจ้าช้างน้อยตัวผู้ตัวนี้ถูกส่งไปเป็นของขวัญให้กับ มูฮัมหมัด เซีย-อุล-ฮัค ประธานาธิบดีปากีสถานในขณะนั้น และได้เจอกับเพื่อนใหม่ที่เป็นช้างเพศเมียชื่อ "ซาเฮลี" ในปี 2533 ต่อมา ซาเฮลี ตายเนื่องจากการติดเชื้อที่ขา เพราะถูกโซ่ล่ามจนเป็นแผล และไม่ได้รับการรักษาที่ดีในปี 2555
"คาวาน" ใจสลาย เมื่อ "ซาเฮลี" จากไป Cr: FB Free Caavan
"คาวาน" เสียใจที่คู่ของมันจากไป กลายเป็นช้างที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว เคยทำร้ายคนดูแลจนเสียชีวิตถึง 2 คน มันต้องถูกล่ามโซ่ เพื่อให้ง่ายต่อการดูแล ด้วยพฤติกรรมเช่นนั้น ทำให้ คาวาน ถูกทิ้งให้โดดเดี่ยว เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ไม่กล้าเข้าไปใกล้ ยิ่งเพิ่มความเครียดให้คาวานมากขึ้น คาวานเริ่มมีพฤติกรรมหันหัวเข้าหากำแพงเป็นเวลานาน บางครั้งก็ส่ายหัวไปมาซ้าย-ขวา และน้ำหนักตัวมากขึ้นถึง 5 ตัน
หลังจากการเรียกร้องของ แชร์และโควน์ ทำให้สวัสดิภาพของ คาวาน ดีขึ้นมาบ้าง แต่มันยังไม่ดีเท่าที่ช้างที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าควรจะได้รับ
"คาวาน" ต้องขึ้นศาล
เมื่อกฎหมู่ทำได้แค่เพียงปลดโซ่ตรวน แต่ยังต้องอยู่ในสถานที่เดิมๆ สิ่งแวดล้อมเดิมๆ ไร้การเยียวยาจิตใจ กฎหมายจึงถูกนำมาใช้
ซาฟ์วาน ซาฮับ อาหมัด รองประธานมูลนิธิสัตว์ป่าแห่งปากีสถาน ระบุว่า คาวาน มีอาการป่วยทางจิต ซึ่งเชื่อมโยงกับคอกที่กักขังมันไว้ แต่เจ้าหน้าที่สวนสัตว์โต้กลับว่า คาวาน ถูกถอดโซ่ตรวนแล้ว และต้องการคู่ใหม่เท่านั้น ในเดือน ก.ย.2560 มีภาพที่อยู่อาศัยของ คาวาน ออกมาให้คนเห็นมากขึ้น คาวาน ซึ่งถูกล่ามโซ่เดินได้ในพื้นที่จำกัดนานกว่า 2 ทศวรรษ ก็ยิ่งทำให้ผู้คนกว่า 200,000 คนเรียกร้องให้ปล่อย คาวาน เป็นอิสระมากขึ้น
Cr: FB Free Caavan
โอไวส์ เอวาน ทนายความชาวปากีสถาน รวบรวมเอกสารฟ้องสวนสัตว์อิสลามาบัดเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว คาวาน จนกระทั่ง วันที่ 21 พ.ค.2563 ศาลสูงอิสลามาบัดตัดสินให้ คาวาน ได้รับการปล่อยตัว และไม่เพียงแต่ คาวาน เท่านั้น แต่สวนสัตว์อิสลามาบัดถูกสั่งปิดด้วย คาวาน และ สัตว์ทุกตัวในสวนสัตว์ ต้องหาที่อยู่ใหม่ทั้งหมดภายใน 30 วัน เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ถูกดำเนินคดีข้อหา ละเมิด พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ พ.ศ.2433 และกฎหมายสัตว์ป่า พ.ศ.2522
นับเป็นชัยชนะของสัตว์ทุกตัวในสวนสัตว์
#FreeKaavan
หลังจากได้รับรู้ถึงคำพิพากษาปลดปล่อย คาวาน แล้ว แชร์และโควน์ ติดต่อไปยัง "อาเมียร์ คาลิล" สัตวแพทย์จากองค์กรไม่แสวงผลกำไร "Four Paws" เป็นผู้นำภารกิจย้ายถิ่นฐานให้ คาวาน
บ้านใหม่ของ คาวาน คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ประเทศกัมพูชา
ภารกิจการนำ คาวาน เดินทางจากปากีสถานไปยังกัมพูชาเริ่มขึ้น น.สพ.คาลิล ต้องเข้าไปทำความคุ้นเคยกับ คาวาน เพื่อเยียวยาจิตใจที่บอบช้ำและสร้างความไว้ใจ
"คาวาน" เพื่อนตัวใหญ่ของ "คาลิล" Cr: FB Free Caavan
ผมคิดว่าผมมีเพื่อนใหม่ และเป็นเพื่อนที่ตัวใหญ่มาก
กรงเหล็กช้างขนาดพอดีตัว ถูกสร้างเพื่อใช้เป็นที่อยู่ชั่วคราวขณะขนส่ง หลังจากที่ คาวาน เดินเข้าไปในกรง แท่งเหล็กกั้นประตู 4 แท่งจะถูกยกลงปิดประตูทั้งด้านหน้าและหลัง เพื่อป้องกันช้างเซไปมา และมีประตูบานใหญ่ปิดไว้อีกชั้นหนึ่ง ด้านข้างกรงมีช่องขนาดเล็ก พอให้ คาวาน ได้ใช้งวงลอดออกมาจับอาหาร น.สพ.ระบุว่า ด้วยภารกิจที่มีเวลาจำกัด และไม่สามารถสร้างความคุ้นเคยระหว่างช้างกับกรงได้มากนัก จึงต้องใช้ยาซึมกับ คาวาน ในขณะขนส่ง
ในวันที่ 29 พ.ค.2563 เพียง 1 สัปดาห์หลังคำพิพากษา คาวาน เดินเข้ากรง กรงยกขึ้นรถบรรทุก และเข้าสู่เครื่องบิน IL-76 เดินทาง 7 ชั่วโมงพร้อมทีมสัตวแพทย์จำนวนหนึ่ง มุ่งหน้าไปยังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากัมพูชา "บ้านใหม่" ของ คาวาน
การเดินทางของ
แชร์ ในฐานะ 1 ในผู้เรียกร้องให้ปลดปล่อย คาวาน เดินทางไปอำลา คาวาน ที่สวนสัตว์อิสลามาบัด และเจ้าหน้าที่สวนสัตว์รวมถึงประชาชน ก็เข้าไปส่ง คาวาน ก่อนเดินทางอีกด้วย จากความพยายามร่วม 5 ปี ที่ปลดปล่อย คาวาน
"แชร์" เดินทางไปส่ง "คาวาน" ด้วยตัวเอง
ตอนนี้คาวาน อายุ 39 ปี อาศัยอยู่ในป่าของกัมพูชา ได้เจอกับช้างเชือกอื่นๆ อีกมากมายทำให้ คาวาน ไม่ใช่ช้างที่โดดเดี่ยวที่สุดในโลก อีกต่อไป
"คาวาน" เล่นซ่อนแอบ Cr: Fb Free Caavan
"คาวาน" ได้เจอเพื่อนใหม่ที่กัมพูชา Cr: FB Free Caavan
อ่าน :
อยากกลับบ้าน! “พลายศักดิ์สุรินทร์” ไม่ตื่นเต้น ซ้อมเข้า-ออกกรง
ไม่เพียง "พลายศักดิ์สุรินทร์" แต่ยังมี "ช้างไทย" อีก 10 เชือกอยู่ต่างแดน?