ตัดไฟไม่กระทบเมืองทุนจีนเทา
ทันทีที่เข้าสู่วันที่ 6 มิ.ย.2566 ไทยยุติการขายไฟฟ้าบริเวณสองจุดของจังหวัดเมียวดี ซึ่งส่งไปเลี้ยงเมืองชเวโก๊กโก่ และ KK ศูนย์กลางเมืองสแกมเมอร์ และกาสิโนออนไลน์ ติดชายแดน จ.ตาก ของไทย หลังจาก รัฐบาลเมียนมาไม่ต่อสัมปทานการซื้อขายไฟใน 2 จุดนั้น
ผู้สื่อข่าวในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก รายงานว่า สถานการณ์ล่าสุดในเมืองชเวโก๊กโก่และเมือง KK ซึ่งเป็นพื้นที่ลงทุนของกลุ่มทุนจีนสีเทา ยังดำเนินกิจกรรมตามปกติ ไม่พบปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า เนื่องจากมีไฟสำรองและเครื่องปั่นไฟขนาดใหญ่รองรับการใช้งานในกิจกรรมต่างๆ
ขณะที่ ชาวเมียนมาซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เช่น ร้านค้าขนาดเล็ก ขนาดกลาง และที่อยู่อาศัย กำลังได้รับความเดือดร้อน และเริ่มสั่งซื้อเครื่องปั่นไฟจาก อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อนำไปใช้ในครัวเรือน
3 เส้าความสัมพันธ์ จีน – SAC - กะเหรี่ยงบีจีเอฟ
นายกฤษณะ โชติสุทธิ์ อาจารย์ประจําหลักสูตรพม่าศึกษา ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสว่า พื้นที่การลงทุนของกลุ่มจีนเทาบริเวณชายแดนรัฐกะเหรี่ยง อยู่ในเขตอิทธิพลของกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยง หรือ กะเหรี่ยงบีจีเอฟ
นายกฤษณะ โชติสุทธิ์ อาจารย์ประจําหลักสูตรพม่าศึกษา ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ ม.นเรศวร (ภาพจากคณะมนุษยศาสตร์ ม.นเรศวร)
จากข้อมูลของกลุ่มนักลงทุนจีนที่เข้ามาตั้งเมืองใหม่ริมแม่น้ำเมย พบว่า เป็นกลุ่มซึ่งมีปัญหากับรัฐบาลจีนอยู่เดิม แต่รัฐบาลจีนไม่สามารถลงมาจัดการกลุ่มจีนเทาเหล่านี้ได้ด้วยตนเอง เนื่องจากเป็นเขตอธิปไตยของเมียนมา และพื้นที่ดังกล่าวก็อยู่ในความดูแลของกะเหรี่ยงบีจีเอฟ ซึ่งได้รับอำนาจจากรัฐบาลเมียนมาให้จัดการพื้นที่ชายแดนบริเวณนี้
ทางการจีนจึงใช้วิธีการกดดันผ่านรัฐบาลกลางเมียนมา ผ่านสภาบริหารรัฐแห่งเมียนมา หรือ SAC ที่ก่อตั้งขึ้นหลังการรัฐประหารโดยกองทัพเมียนมาเมื่อปี 2564 โดยส่งตัวแทนเข้าพบผู้นำระดับสูงของ SAC ที่เนปิดอว์ นำไปสู่คำสั่งยุติสัมปทานซื้อขายไฟฟ้าทั้งสองจุดในเวลาต่อมา
ทางการจีนต้องการจัดการจีนเทา แต่ไม่สามารถจัดการได้ด้วยตนเอง จึงใช้ SAC เข้ามากดดันรัฐบาลไทยให้ตัดไฟที่ส่งไปยังเขตชเวโก๊กโก่และเมือง KK
หลังการรัฐประหารในปี 2564 SAC มีประเทศมหาอำนาจที่ยังเป็นพันธมิตรกันอยู่ไม่กี่ประเทศ ได้แก่ จีน และ รัสเซีย ขณะที่ ประเทศมหาอำนาจในโลกตะวันตกออกมาตรการคว่ำบาตร เพื่อโต้กลับการทำรัฐประหารของกองทัพเมียนมา เนื่องจากขัดกับหลักประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชน
นายฉิน กัง รมว.ต่างประเทศของจีน เยือนประเทศเมียนมาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 พ.ค.66 เข้าพบพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย นายกรัฐมนตรีเมียนมา
อาจารย์ประจําหลักสูตรพม่าศึกษา ม.นเรศวร บอกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับรัสเซียในช่วงที่ผ่านมา ค่อนข้างมั่นคง ไม่มีข้อบ่งชี้ใดให้กังวลว่าสายสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะเปลี่ยนแปลงไป ต่างกับประเทศจีนที่มีท่าทีเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์เสมอ
ยกตัวอย่างเช่น ในยุครัฐบาลพลเรือน NLD หลายฝ่ายคาดการณ์ว่ารัฐบาลจีนไม่น่าชอบรัฐบาลที่มาจากพรรค NLD แต่เมื่อดูข้อเท็จจริงจะพบว่าจีนไม่ได้สนใจเรื่องนี้เท่าไรนัก แต่มุ่งเน้นไปที่ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจมากกว่า
ถ้าหาก SAC เลือกจะเข้าข้างกะเหรี่ยงบีจีเอฟ และไม่เอารัฐบาลจีนกลาง แบบนั้นจะสั่นคลอน SAC มากกว่า SAC จึงเลือกอยู่ข้างรัฐบาลจีน มากกว่าอุ้มกะเหรี่ยงบีจีเอฟไว้
นายกฤษณะ อธิบายเพิ่มเติมว่า การตัดสินใจเช่นนี้ เป็นเพราะ SAC เลือกที่จะรักษาผลประโยชน์ในภาพใหญ่มากกว่า เนื่องจากเศรษฐกิจของเมียนมาหลายด้าน รวมถึง ตำแหน่งในเวทีโลก ยังต้องพึ่งพามหาอำนาจอย่างจีน
ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่าง SAC กับกะเหรี่ยงบีจีเอฟ อยู่ในลักษณะพันธมิตรที่แบ่งปันกิจกรรมทางการเมืองและเศรษฐกิจ และอาจมีบางกิจกรรมที่แบ่งปันผลประโยชน์กันผ่าน “ส่วย” ซึ่งน้ำหนักความสัมพันธ์ลักษณะนี้ เทียบไม่ได้เลยกับน้ำหนักความสัมพันธ์ระหว่าง SAC กับรัฐบาลจีนกลาง
ขู่ปิดสะพานมิตรภาพ สัญญาณเตือนถึง SAC
ก่อนหน้าการยุติส่งไฟไม่กี่วัน พบว่า กองกำลังกะเหรี่ยงบีจีเอฟ ส่งสารอย่างไม่เป็นทางการว่าจะปิดสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาทั้งสองแห่งใน อ.แม่สอด จ.ตาก แต่สุดท้ายการปิดสะพานทั้งสองแห่งไม่เกิดขึ้น
พันเอกชิต ตุ ผู้นำกองกำลังกะเหรี่ยงบีจีเอฟ (คนหน้าสุด) ภาพจาก YATAI IHG
นายกฤษณะ บอกว่า คำขู่จากกะเหรี่ยงบีจีเอฟ ไม่ใช่สารที่ส่งถึงทางการไทยอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ แต่เป็นการส่งสัญญาณเตือน SAC เนื่องจากสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ทั้งสองแห่ง อยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลกลาง SAC ไม่ใช่กะเหรี่ยงบีจีเอฟ และ เขาประเมินว่าคำขู่ดังกล่าวส่งผลสะเทือนต่อ SAC พอสมควร
ถ้าหากกะเหรี่ยงบีจีเอฟ ปิดสะพานได้จริง นั่นหมายความว่า เขากำลังเริ่มทำสงครามกับ SAC
ยุติส่งไฟ 2 เมืองจีนเทาใครได้ประโยชน์?
อาจารย์ประจําหลักสูตรพม่าศึกษา ม.นเรศวร มองว่า SAC คือผู้ได้ประโยชน์จากการยุติจ่ายไฟให้กับสองเมืองทุนจีนเทามากที่สุด เพราะทำให้ SAC ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลจีนมากยิ่งขึ้น
มีการตั้งข้อสังเกตว่า การยุติขายไฟให้ทั้งสองเมือง ทำให้รัฐบาลไทยสูญเสียรายได้ แต่ต้องยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยมีปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ ถูกมองในลักษณะเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มทุนจีนเทา ดังนั้น การยอมสูญเสียรายได้จากการขายไฟ แลกกับกู้ภาพลักษณ์จากนานาชาติ ถือว่าคุ้มค่ามาก
เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กลุ่มทุนจีนเทาที่อยู่ในเมืองวันนี้ ล้วนเดินทางผ่านประเทศไทย นั่งเครื่องบินมาลงประเทศไทย และต่อเครื่องไปลงแม่สอด
จีนเทายังมีอนาคต ไม่กระทบท่อน้ำเลี้ยงกะเหรี่ยงบีจีเอฟ
นายกฤษณะ บอกว่า ตราบใดที่เครื่องปั่นไฟทำงานได้อยู่ เมืองทุนจีนทั้งสองแห่งก็ยังสามารถดำเนินกิจกรรมต่อไปได้ และสามารถแบ่งปันผลกำไรไปยังกะเหรี่ยงบีจีเอฟได้เช่นเดิม ดังนั้น การยุติส่งไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจึงไม่กระทบท่อน้ำเลี้ยงของกลุ่มกะเหรี่ยงบีจีเอฟอย่างที่หลายฝ่ายประเมินไว้ในตอนแรก
สิ่งที่สำคัญที่สุดหลังจากนี้ที่ต้องจับตามองคือ รัฐบาลจีนกลางจะกดดัน SAC ต่ออย่างไร หรือฝ่ายไทยอาจเข้าไปกดดัน SAC ด้วยไหม ผมเข้าใจว่ารัฐบาลจีนกลางน่าจะมีมาตรการที่รุนแรงมากกว่านี้ในอนาคต
สิ่งที่น่ากังวลสำหรับฝ่ายไทยคือ ในอนาคตหากกะเหรี่ยงบีจีเอฟเปิดฉากตอบโต้ SAC โดยอาจเข้าร่วมกับกลุ่มต่อต้านอื่นๆ ในพื้นที่ จะส่งผลต่อสนามอำนาจในพื้นที่ชายแดนของไทยอีกรอบหนึ่ง และ อาจเกิดการสู้รบครั้งใหญ่ตามมา
จิราภรณ์ ศรีแจ่ม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน