วันที่ 15 มิ.ย.2566 สำนักข่าว The Guardian รายงานว่า ประเพณีล่าวาฬนำร่องครีบยาว (ชื่อเป็นวาฬ แต่แท้จริงคือ โลมา) ของหมู่เกาะแฟโรเริ่มต้นตั้งแต่เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้มีวาฬนำร่องครีบยาวมากกว่า 500 ตัวที่ถูกฆ่าตายไปแล้ว
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการล่าวาฬนำร่องครีบยาวอีก 2 ครั้ง ครั้งแรกจับได้ 267 ตัว และอีกครั้งได้ 178 ตัว การล่าวาฬนำร่องครีบยาว 2 ครั้งล่าสุดนี้ เป็นครั้งที่ 4 และ 5 ของปี ทำให้ปีนี้มีการล่าวาฬนำร่องครีบยาวไปแล้วว่า 5 ครั้ง
ครั้งที่ 1 เมื่อ 8 พ.ค. ฆ่าไป 12 ตัว
ครั้งที่ 2 เมื่อ 15 พ.ค. ฆ่าไป 48 ตัว
ครั้งที่ 3 เมื่อ 6 มิ.ย. ฆ่าไป 63 ตัว
รวมทั้ง 5 ครั้ง ฆ่าไปแล้ว 568 ตัว
รู้จักประเพณี Grindadráp
มีบันทึกตั้งแต่ปี พ.ศ.2127 หรือ 400 กว่าปีมาแล้ว หมู่เกาะแฟโรเริ่มมีการล่าวาฬและโลมา แต่กฎหมายอนุญาตให้ล่าวาฬของหมู่เกาะแฟโรนั้น ไม่สอดคล้องกับกฎหมายของคณะกรรมการล่าวาฬระหว่างประเทศ เนื่องจากหมู่เกาะแฟโร อนุญาตให้ล่าวาฬนำร่องครีบยาว (Globicephala melaena) ด้วยการล่าโลมาของชาวแฟโรไม่ใช่เพื่อการค้า แต่เป็นการล่าระดับชุมชนที่ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ เมื่อพบฝูงวาฬใกล้แผ่นดิน ชาวเกาะสามารถล้อมวาฬเข้าอ่าวและฆ่าได้ทันที
Sea Shepherd UK
กฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ของแฟโร ครอบคลุมการล่าวาฬด้วย โดยกำหนดให้สัตว์ต้องถูกฆ่าอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่วินาทีและให้สัตว์ทรมานน้อยที่สุด อุปกรณ์การล่าต้องได้มาตรฐานสำหรับการฆ่าวาฬ และเนื้อวาฬหรือโลมาที่ได้จากการล่า สามารถนำมาประกอบอาหารได้อย่างถูกกฎหมาย
ประเพณีล่าวาฬในอดีต
ข้อมูลจาก National Geographic ระบุว่า ประเพณีล่าวาฬเริ่มต้นเมื่อ 4,000 ปีก่อน โดยชาวนอร์เวย์ ประเพณีล่าวาฬมีหลายพื้นที่ เช่น ชาวเอสกิโม เป็นผู้ล่าในมหาสมุทรอาร์กติก, ชาวบาสก์ เป็นผู้ล่าในมหาสมุทรแอตแลนติก และชาวญี่ปุ่น เป็นผู้ล่าในมหาสมุทรแปซิฟิก
จุดประสงค์การล่าวาฬก็แตกต่างกันออกไป บางพื้นที่นำหนังวาฬมาเป็นเครื่องนุ่งห่ม สานเป็นตะกร้า สายเบ็ด มุงหลังคา กระดูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือดำรงชีวิต หรือ ของขลังในพิธีกรรมต่างๆ สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมประเพณีโบราณ
ต่อมาในช่วงยุคกลางและยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ การล่าวาฬได้รับความนิยมไปทั่วยุโรป น้ำมันของวาฬเป็นสิ่งที่มีมูลค่า นำมาใช้จุดตะเกียงน้ำมัน ส่วนกระดูกก็ดัดแปลงเป็นชุดรัดรูป และสุ่มกระโปรงสำหรับหญิงสาวชนชั้นสูง
ล่าวาฬกระทบจิตใจนักสิทธิสัตว์
องค์กรผู้พิทักษ์สิทธิสัตว์ "Sea Shepherd" วิจารณ์ว่าประเพณีนี้โหดร้ายและไม่มีความจำเป็นในแง่ของการล่าเพื่อเป็นอาหาร เนื่องจากมีอาหารอีกหลาหลายที่มีคุณประโยชน์มากกว่าการฆ่าวาฬ แต่รัฐบาลแฟโรแย้งว่า ปัจจุบันมีวาฬนำร่องที่อยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกมากกว่า 128,000 ตัว การล่าวาฬนำร่องครีบยาวปีละ 800 ตัวของชาวแฟโรจึงไม่กระทบต่อระบบนิเวศน์ใดๆ
Sea Shepherd UK
แต่มีข้อมูลว่าเมื่อวันที่ 12 ก.ย.2564 มีโลมาหัวบาตรหลังขาวจำนวนกว่า 1,420 ตัวถูกสังหารจากน้ำมือชาวแฟโร ทำให้เป็นประเด็นถกเถียงอย่างมากระหว่างหมู่เกาะแฟโรและนานาชาติ องค์กร Sea Shepherd เชื่อว่า การล่าโลมาในปีนั้น เป็นการฆ่าหมู่โลมาครั้งที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ของหมู่เกาะแฟโร นับตั้งแต่การฆ่าหมู่วาฬ 1,200 ตัวในปี 2483 และอาจเป็นการฆ่าหมู่สัตว์จำพวกวาฬที่มากที่สุดภายในหนึ่งครั้งของโลก
เรื่องนี้ทำให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรใช้มาตรการคว่ำบาตร ระงับข้อตกลงการค้าเสรีกับชาวแฟโรทันที
Sea Shepherd ระบุว่าการล่าวาฬเพื่อเป็นอาหารของชาวแฟโรนั้นผิดกฎหมายและไร้ซึ่งมนุษยธรรม นักล่าหลายคนไม่มีใบอนุญาตการล่าวาฬ และไม่รู้วิธีการฆ่าที่เหมาะสมตามกฎหมายที่รัฐบาลแฟโรกำหนด
บางครั้งชาวเกาะล่ามากเกินไป จนต้องแบ่งเนื้อวาฬนำร่องครีบยาวให้กับพื้นที่อื่น
สอดคล้องกับ PETA องค์กรพิทักษ์สัตว์ ที่ระบุว่าการบริโภคเนื้อวาฬนำร่องครีบยาวบนเกาะแฟโรนี้เป็น "ประเพณีที่สาบสูญ" ไปนานแล้ว และมีเพียงร้อยละ 17 ของชาวเกาะเท่านั้นที่ยังกินเนื้อวาฬนำร่องครีบยาวและใช้ไขวาฬเป็นประจำ
กฎหมายล่าวาฬ
พ.ศ.2489 หลายประเทศได้ร่วมกันก่อตั้งคณะกรรมการล่าวาฬระหว่างประเทศ (IWC) เพื่อป้องกันการล่าวาฬมากเกินไป แต่กฎระเบียบนั้นถูกตั้งแบบหลวมๆ และโควตาการล่าวาฬยังสูง ทำให้จำนวนวาฬยังลดลงอย่างต่อเนื่อง
ในที่สุด IWC ก็สามารถตั้งเขตรักษาพันธุ์ล่าวาฬขึ้น ในมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรรอบแอนอาร์คติก รวมถึงเริ่มเรียกร้องให้ลดการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ลง แต่ญี่ปุ่นและนอร์เวย์ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้
ปัจจุบัน นอร์เวย์สนับสนุนการล่าวาฬมิงค์เพื่อเป็นเนื้อ ส่วนญี่ปุ่นอนุญาตให้ล่าวาฬเพื่อการวิจัย แต่ก็ถูกตั้งข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญว่าการล่าวาฬในแต่ละปีของญี่ปุ่นเพื่อนำไปวิจัยนั้น มีจำนวนมากเกินความจำเป็น และเนื้อวาฬที่ถูกฆ่าเพื่อการวิจัยขายจะถูกนำไปขายเป็นอาหารอยู่ดี
หมู่เกาะแฟโร อยู่ที่ไหนของโลก?
หมู่เกาะแฟโรเป็นกลุ่มเกาะ ที่ประกอบด้วยเกาะหลัก 18 เกาะ และเกาะย่อย 779 เกาะ ในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ อยู่กึ่งกลางระหว่างไอซ์แลนด์และนอร์เวย์ เป็นดินแดนปกครองตนเองตั้งแต่ปี 2491 แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรเดนมาร์ก (แต่ไม่ยอมเข้าร่วม EU พร้อมกับเดนมาร์ก) หมู่เกาะนี้มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1,400 ตร.กม. มีประชากร 54,000 คน (เดือนมิ.ย. 2565) "ทอร์สเฮาน์" คือเมืองหลวงและเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของหมู่เกาะ
บ้านเรือนในหมู่เกาะแฟโร
ที่มา : National Geographic, The Guardian, Sea Shepherd UK
อ่านข่าวเพิ่ม :
ห่วงสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา กระทบโลมาอิรวดีฝูงสุดท้าย
สุดยื้อ! ลูกโลมาอิรวดี "ภาระดอน" ตายแล้ว