โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 6 จ.อ่างทอง พบนักเรียนเพิ่มขึ้นผิดปกติ จากเดิมเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก แต่กลับมีนักเรียนเพิ่มขึ้นกว่า 100 คน ในปีการศึกษานี้ โดยนักเรียนส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน มีรายงานเบื้องต้นเป็นเด็กชาวอาข่า จากรัฐฉาน เมียนมา ขณะที่ผู้อำนวยการโรงเรียนและครู ถูกตรวจสอบว่าการเพิ่มจำนวนนักเรียน หวังผลในการของบประมาณหรือไม่
กระทั่งเมื่อวานนี้ (5 ก.ค.2566) มีรายงานว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำตัวนักเรียน 126 คนออกไปจาก จ.อ่างทอง เพื่อเตรียมส่งกลับประเทศต้นทาง โดยพาไปที่ศูนย์พักชั่วคราว 5 แห่ง ใน จ.เชียงราย
นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน ระบุว่า ขั้นตอนการตรวจสอบเด็ก 126 คน เริ่มจากผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนคุ้มครองเด็กและสืบค้นหาผู้ปกครอง โดยมีเด็กสัญชาติไทย 11 คน ส่งกลับผู้ปครองแล้ว ส่วนเด็กที่รอตรวจสอบสัญชาติ 126 คน ช่วงแรกอยู่ในความดูแลของวัดสระแก้ว จ.อ่างทอง
การสืบค้นประวัติพบว่าเป็น “เด็กต่างชาติ” เข้ามาทางช่องทางธรรมชาติ ไม่มีคนกลางนำพา ไม่ถือเป็นการค้ามนุษย์ ซึ่งสืบหาผู้ครอบครองในเวลาต่อมา กระทั่งย้ายเด็กมา จ.เชียงราย โดยความดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพื่อรอส่งเด็กกลับประเทศต้นทาง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ มีผู้ปกครอง ส่งกลับประเทศ หากต้องการเรียนที่ไทยให้ดำเนินการเข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย และไม่มีผู้ปกครอง พม.และเครือข่ายภาคประชาชนช่วยดูแล พร้อมกับสืบหาผู้ปกครองต่อไป
ล่าสุด อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า ส่งเด็กให้ผู้ปกครองแล้วกว่า 30 คน
ภาคประชาชน เผยมีผู้ปกครองติดต่อขอรับเด็กเพียง 6 คน
ขณะที่นายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล ผู้ติดตามเรื่องนี้ให้ข้อมูลว่า มีเด็กที่ยืนยันตัวผู้ปกครอง และติดต่อขอรับเด็กเพียง 6 คน และมีรายงานว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เตรียมออกแถลงการณ์แสดงจุดยืน ไม่เห็นด้วยกับการผลักดันเด็กกลับไปฝั่งเมียนมา
ด้านนางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการส่งเด็กกลับ เพราะเด็กทุกคนมีสิทธิเรียน ซึ่งการผลักดันกลับอาจไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายสากลและกฎหมายระหว่างประเทศ
ส่วนนายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ที่ติดตามปัญหาด้านสิทธิ และผู้หนีภัยการสู้รบ มองว่า การส่งเด็กกลับเป็นช่องว่างของกฎหมายที่แต่ละหน่วยงานถือกฎหมายกันคนละฉบับ ซึ่งผลกระทบเกิดขึ้นกับเด็กที่ถูกผลักกลับประเทศต้นทางที่อยู่ในภาวะความไม่สงบ
ชี้เด็กไม่มีสัญชาติ มีสิทธิเรียน
ขณะที่นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า เด็กไร้สัญชาติเข้าเรียนที่ไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ ไทยมีนโยบาย Education For All ให้การศึกษากับทุกคนตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งมีมติ ครม. และระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการรองรับ ดังนั้นเด็กที่ไม่มีสัญชาติมีสิทธิเรียน ปกติโรงเรียนจะใช้รหัส G แทนเลขบัตรประจำตัวประชาชน ส่วนการออกเอกสารรับรองตามกฎหมายเป็นหน้าที่กระทรวงมหาดไทย คำถามคือเด็กมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ หากคดีไม่ถึงที่สุดและศาลยังไม่ตัดสิน ก็เห็นว่าเด็กเหล่านี้มีสิทธิเรียนในไทย
ไทยมีเด็กไร้สัญชาติ 80,000 คน
นายวีระ อยู่รัมย์ ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า มีเด็กนักเรียน 195 คน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนไม่มีเอกสาร หรือไม่มีสถานะบุคคลถึง 142 คน ซึ่งเห็นว่ากรณีเด็กนักเรียนที่ จ.อ่างทอง ขอให้แยกเป็น 2 ประเด็น คือ การนำพาเด็กเข้าเมืองซึ่งดำเนินคดีแล้ว และการให้การศึกษากับเด็ก ซึ่งการดำเนินการลักษณะนี้ส่งผลต่อเด็กโดยตรง ทั้งที่เด็กควรได้รับการศึกษาต่อ
ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ยังให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยมีเด็กไร้สัญชาติกว่า 80,000 คน มากที่สุด คือ จ.เชียงใหม่ 12,000 คน รองลงมา จ.เชียงราย กว่า 7,000 คน การดูแลเด็กเหล่านี้ให้มีสิทธิเข้าถึงการศึกษา จึงเป็นประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ