ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ธาริต เพ็งดิษฐ์” บูมเมอแรงชีวิต ที่พลิกสุดขั้ว

การเมือง
11 ก.ค. 66
14:28
6,831
Logo Thai PBS
“ธาริต เพ็งดิษฐ์” บูมเมอแรงชีวิต ที่พลิกสุดขั้ว
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

เดินเข้าเรือนจำเป็นครั้งที่สองสำหรับ “ธาริต เพ็งดิษฐ์” อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อช่วงค่ำวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา หลังจากเคยเข้าเรือนจำครั้งแรกปี 2561 หรือเมื่อ 5 ปีที่แล้ว โดยถูกศาลสั่งจำคุกเป็นเวลา 1 ปี ในคดีแถลงข่าวหมิ่นประมาท นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ว่า เกี่ยวข้องในคดีทุจริตก่อสร้างโรงพัก 369 แห่งทั่วประเทศ มูลค่าเกือบหกพันล้านบาท

ในครั้งนั้น “ธาริต” เคยเข้าขอขมากับนายสุเทพ โดยมี นายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เป็นคนกลางในการเจรจา และทำหนังสือแสดงความสำนึกผิด พร้อมยื่นขอให้การใหม่ ส่งบันทึกรับรองข้อเท็จจริง ขอเจรจาประนีประนอมในชั้นฎีกา แต่ไม่เป็นผล เนื่องจากศาลเห็นว่าขั้นตอนการไกล่เกลี่ยยังไม่สำเร็จ ผลการไกล่เกลี่ยต้องเป็นที่ยุติของทั้งสองฝ่าย ไม่เป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ก่อนหน้าที่จะถูกจำคุกในคดีหมิ่นประมาท ในปี 2560 “ธาริต” ถูกลงโทษไล่ออกจากราชการและให้ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป. ช) ชี้มูลว่า ร่ำรวยผิดปกติมีมูลค่าทรัพย์สินกว่า 346 ล้านบาท

ธาริต เพ็งดิษฐ์ เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา

ธาริต เพ็งดิษฐ์ เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา

ธาริต เพ็งดิษฐ์ เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา

ในปีเดียวกันศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งจำคุก “ธาริต” 2 ปี ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในคดีสั่งย้าย พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผบ.สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา ในขณะนั้น ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะคดีซึ่งมีระดับที่ต่ำกว่า แต่ศาลลดโทษเป็นรอลงอาญา 2 ปี

และ 10 ก.ค.2566 ศาลฎีกามีคำสั่งจำคุก “ธาริต” เป็นเวลา 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา โดยให้ความเห็นว่า มีเจตนากลั่นแกล้งให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ให้รับโทษทางอาญา เนื่องจากใช้อำนาจในฐานะอธิบดีดีเอสไอสั่งฟ้องโดยไม่ผ่าน ป.ป.ช. ในคดีสั่งสลายการชุมนุม นปช. เมื่อปี 2553

ว่าไปแล้ว “ธาริต” ไม่ต่างจาก “หมองูที่ตายเพราะงู” ในแวดวงนักกฎหมายต้องยอมรับว่า เขาเป็นมือกฎหมายที่เก่งฉกาจ จบเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และจบเนติบัณฑิตไทย

ช่วงนั้น “ธาริต” ไปเป็นผู้ช่วยอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณทิตย์ มีโอกาสพบนายคณิต ณ นคร ที่มาในฐานะอาจารย์พิเศษ ซึ่งเป็นผู้ชักชวนให้ “ธาริต” สอบเข้ารับราชการเป็นอัยการ หลังจบการศึกษาในระดับปริญญาโทคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เส้นทางชีวิตของ “ธาริต” เปลี่ยนไป ในช่วงที่มีการก่อตั้งพรรคไทยรักไทยโดย ทักษิณ ชินวัตร ได้มีการดึงนักกฎหมายฝีมือฉมัง ทั้งอดีตอัยการและผู้พิพากษา เข้าไปช่วยงานด้านกฎหมาย หนึ่งในนั้นมี ดร.คณิต และลูกศิษย์ คือ “ธาริต” รวมอยู่ด้วย

ยุคที่พรรคไทยรักไทย เป็นรัฐบาล “ธาริต” ได้รับแต่งตั้งให้ช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ทำงานกับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และเป็นคณะทำงานของ “พันศักดิ์ วิญญรัตน์” อีกด้วยต่อมาธาริต ได้โอนย้ายมาเป็นรองอธิบดีดีเอสไอ

ในปี 2551 ยุครัฐบาลภายใต้การนำของพรรคพลังประชาชน กระทรวงยุติธรรม ได้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท ) “ธาริต” โอนย้ายจากรองอธิบดีดีเอสไอไปเป็นเลขาธิการ ป.ป.ท. คนแรก

แม้จะเป็นที่รับรู้กันว่า “ธาริต” เป็นลูกหม้อมือกฎหมายของพรรค “ไทยรักไทย”  และ “พลังประชาชน” จนมาถึง “เพื่อไทย” แต่ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” รองนายกฯ ก็ไม่มีทางเลือกมากนัก “ธาริต” ในวัย 50 ปี ถูกเลือกมาเป็นอธิบดีดีเอสไอ โดยย้าย พ.ต.อ.ทวี อธิบดีดีเอสไอในขณะนั้น ที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับเครือข่าย “ชินวัตร” ออกไปประจำสำนักนายกฯ

ในช่วงมีเหตุชุมนุม นปช. ปี 2553 สุเทพ ไว้ใจ “ธาริต” มาก แต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยช่วงเวลานั้นมีการสั่งดำเนินคดีกับแกนนำ นปช. หลายคน รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องกับคดีการเมืองด้วย
ธาริต เพ็งดิษฐ์ เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา

ธาริต เพ็งดิษฐ์ เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา

ธาริต เพ็งดิษฐ์ เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา

การเปลี่ยนขั้วมารับใช้ฝ่ายการเมืองในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ ทำให้ “ธาริต” ถูกหมายหัวเป็นศัตรูลำดับต้นๆ ของคนเสื้อแดง ขณะเดียวกันก็ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมและแกนนำฯ ฟ้องร้องและตรวจสอบในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว หรือเรื่องมีผู้โอนเงิน 1.5 แสนบาท เข้าบัญชีของ “วรรษมล เพ็งดิษฐ์” ภรรยาของเขา โดยระบุว่าเป็นเงินค่าตอบแทนในการเลี่ยงภาษี แต่ภายหลังมีคำชี้แจงว่าเป็นค่าบริการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย

ต่อมาในปี 2554 เป็นยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ดีเอสไอภายใต้การนำของ “ธาริต” ได้พลิกข้างกลับมาชนกับอดีตรัฐบาลประชาธิปัตย์ “สุเทพ-อภิสิทธิ์” ที่เคยร่วมทำงานกันมา ทั้งคดีสลายการชุมนุม ยกฟ้องคดีกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. และคดีอื่นๆจำนวนมาก และยังไล่บี้เอาผิด คดีอื่นๆ เช่น คดีทุจริตโรงพักทดแทน คดีต่อสัญญาสัมปทานบีทีเอส

“ธาริต” อยู่รอดปลอดภัยในรัฐบาลยิ่งลักษณ์และได้รับการต่ออายุในตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ จนกระทั่ง คสช. เข้ายึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ในปี 2557 “ธาริต” ถูกย้ายไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปิดฉากชีวิต 5 ปีในตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ

นับจากนั้น “ธาริต” ถูกตรวจสอบเรื่อยมา ความเป็นนักกฎหมาย อาจทำให้รู้ช่องทางมากมาย ทั้งฟ้องคนอื่นและถูกคนอื่นฟ้อง

แม้คดีสุดท้ายก่อนที่ศาลฎีกาจะมีคำตัดสินออกมา ยังมีการใช้สิทธิ์ขอเลื่อนฟังคำพิพากษาในชั้นฎีกาถึงครั้งที่ 9 และก่อนจะศาลจะนัดฟังคำตัดสินเพียง 1 วัน “ธาริต” ออกมาแถลงข่าว ขอยื่นคัดค้านองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาและขอให้ศาลเลื่อนคำพิพากษาออกไป

บูมเมอแรงชีวิตที่เกิดขึ้นกับ “ธาริต” อดีตอธิบดีดีเอสไอ ที่พลิกสุดขั้ว แม้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยกับอดีตข้าราชการระดับสูงที่พลิกขั้วสลับรับใช้ฝ่ายการเมือง แต่สะท้อนให้เห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ตรงไป-ตรงมา คือ เกราะกำบังคุ้มภัยที่ดีกว่าในยามที่ไม่ว่าชีวิตจะพุ่งสูงสุด หรือตกต่ำติดดิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ศาลฎีกา สั่งจำคุก 2 ปี "ธาริต" ไม่รอลงอาญา-ส่งตัวเข้าเรือนจำ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง