เครือข่ายสหกรณ์ ผู้เลี้ยงไก่ไข่ประกอบด้วย สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัดสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด และสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ลุ่มแม่น้ำน้อย จำกัด ประกาศปรับขึ้นราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอีก 20 สตางค์ต่อฟอง หรือ 6 บาทต่อแผง จากเดิม 3.80 บาท เป็น 4.00 บาทต่อฟอง มีผลตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค.2566 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
การปรับขึ้นครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงตรึงราคาอยู่นาน จากที่ปรับขึ้นครั้งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2566 จาก 3.60 บาทต่อฟอง เป็น 3.80 บาท
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ได้ประชุมเมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมได้ประเมินต้นทุนการผลิตไข่ไก่ในไตรมาส 2/2566 เฉลี่ยฟองละ 3.70 บาท สูงขึ้นจากไตรมาส 1/2566 ซึ่งอยู่ที่เฉลี่ยฟองละ 3.67 บาท เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 พบว่า สูงขึ้นร้อยละ 17.46 เนื่องจากค่าพันธุ์สัตว์ ราคาอาหารสัตว์ วัคซีน ยาป้องกันโรค ค่าน้ำ และค่าไฟปรับตัวสูงขึ้น
ที่ประชุม Egg Board ยังได้ติดตามสถานการณ์วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี กากถั่วเหลืองนำเข้า ราคาวัตถุดิบทดแทน (ปลายข้าวและมันเส้น) และปลาป่น เห็นควรปรับลดภาษีกากถั่วเหลืองเหลือง ร้อยละ 0 ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์และบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร รวมทั้งเพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศ
สำหรับสถานการณ์ไก่ไข่ปัจจุบัน มีจำนวนไก่ไข่ยืนกรง 52.08 ล้านตัว ประมาณการผลผลิต 43.21 ล้านฟองต่อวัน
กรมการค้าภายใน ขอความร่วมมือตรึงราคาอาหารสัตว์
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ และเกษตรกรผู้เลี้ยง พบว่า สถานการณ์ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์เริ่มเข้าสู่ภาวะทรงตัวแล้ว บางรายการเริ่มอ่อนตัวลง โดยมีผลผลิตมากขึ้น เช่น ถั่วเหลือง โดยประเทศอาร์เจนตินา และบราซิล เพิ่มพื้นที่ในการปลูกมากขึ้น ถือว่าสถานการณ์วัตถุดิบอาหารสัตว์ได้ผ่านช่วงราคาสูงสุดไปแล้วตั้งแต่ในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.ที่ผ่านมา
จากนี้จะต้องจับตาผลผลิตว่าจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง เพราะปรากฏการณ์เอลนีโญอีกมากน้อยเพียงใด แต่ในช่วงนี้กรมการค้าภายในได้ขอความร่วมมือโรงงานผู้ผลิตอาหารสัตว์ ยังคงราคาจำหน่ายไว้ในราคาเดิมก่อน และหากต้นทุนวัตถุดิบลดลงจะต้องปรับราคาอาหารสัตว์ลดลงด้วย