ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ ชาติตะวันตกกำลังจับตามองอยู่ และได้ส่งสัญญาณเตือนกัมพูชาไปแล้วว่า ขอให้จัดการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรม ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่ชาติตะวันตกใช้เพื่อกดดันรัฐบาลกัมพูชาในเรื่องนี้ คือสิทธิพิเศษทางการค้า ซึ่งก่อนหน้านี้เคยใช้จัดการกับรัฐบาลกัมพูชาไปแล้วระดับหนึ่ง
เมื่อ 3 ปีก่อน สหภาพยุโรปได้เพิกถอนสิทธิพิเศษทางการค้าและการส่งออกของกัมพูชาที่เรียกว่า Everything But Arms หรือ EBA ไปบางส่วน เนื่องจากกัมพูชาไม่แก้ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและสถานการณ์ด้านประชาธิปไตยก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข
ธงชาติกัมพูชา
ในขณะที่สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรของของสหรัฐฯ ที่เรียกว่า GSP ซึ่งหมดอายุช่วงสิ้นปี 2563 สหรัฐฯ ไม่ต่ออายุให้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการกดดันให้กัมพูชา แก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นและไม่มีแนวโน้มว่า ทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ จะคืนสิทธิพิเศษเหล่านี้ให้กับกัมพูชาในเร็ววัน
ต้องยอมรับว่าการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ส่งผลกระเทือนต่อกัมพูชาไม่น้อย เพราะสัดส่วนการส่งออกไปยัง 2 กลุ่มนี้ มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของการส่งออกทั้งหมด สินค้าส่งออกหลักของกัมพูชา อันดับ 1 คือเสื้อผ้าและรองเท้า ที่เรียกได้ว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของกัมพูชาและสร้างงานมากถึงล้านกว่าตำแหน่ง
สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าหลักของกัมพูชา สินค้าส่งออกหลักคือเสื้อผ้าและรองเท้า มีสัดส่วนมากที่สุด
หากพูดถึงจุดแข็งในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มของกัมพูชา มี 2 ประการ
- สิทธิพิเศษทางการค้าและภาษีจากชาติตะวันตกที่มักเสนอให้กับกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
- ค่าแรงต่ำ
โรงงานเสื้อผ้า
การสูญเสียสิทธิพิเศษเหล่านี้ ทำให้ความได้เปรียบของกัมพูชาลดลง แม้จะมีจุดแข็งคือค่าแรงต่ำ แต่กระบวนการผลิตของกัมพูชาส่วนใหญ่ เป็นขั้นตอนการตัดเย็บและตกแต่งเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นขั้นตอนการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มน้อยและง่ายต่อการย้ายฐานการผลิต ทำให้ผู้ประกอบการอาจย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นที่ต้นทุนต่ำและมีสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสมกว่า อย่างเวียดนามและบังกลาเทศ ที่ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากชาติตะวันตก
อ่าน : ไม่เปลี่ยนแปลง! ฮุน เซน มั่นใจชนะเลือกตั้งกัมพูชา
ก่อนหน้านี้สมเด็จ ฮุน เซน เคยพูดกับประชาชนในทำนองว่า รัฐบาลกัมพูชาไม่สนใจสิทธิพิเศษจากชาติตะวันตก เพราะสุดท้ายแล้วกัมพูชาก็ต้องพึ่งตัวเองให้ได้ จะยืมจมูกคนอื่นหายใจไปตลอดไม่ได้ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า "จีน" น่าจะกลายเป็นหมุดหมายใหม่ด้านการส่งออกของกัมพูชา แต่ไม่น่าจะทดแทนกันได้
ยกตัวอย่างมูลค่าการส่งออกของกัมพูชาไปสหรัฐฯ และจีน ห่างกันหลายเท่า
ในปี 2564 มูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ สูงถึง 9,590 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การส่งออกไปจีนมีเพียง 1,940 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
นอกจากนี้การระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการสินค้าในตลาดโลกลดลงอย่างมาก ส่งผลให้โรงงานผลิตเสื้อผ้าและสิ่งทอในกัมพูชาปิดตัวไปมากกว่า 100 แห่ง จากทั้งหมดที่มีมากกว่า 600 แห่ง
สมเด็จ ฮุน เซน นายกฯ กัมพูชา
หลายฝ่ายหวังว่าการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตก จะช่วยจูงใจให้รัฐบาลกัมพูชาหันมาแก้ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยอย่างจริงจัง แต่บางฝ่ายมองว่า การลงโทษทางเศรษฐกิจเหล่านี้ไม่มีผลต่อกลุ่มชนชั้นนำในกัมพูชาที่ลอยตัวอยู่เหนือปัญหา แต่คนที่ได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ ก็คือชาวกัมพูชาที่หาเช้ากินค่ำ
อ่านข่าวอื่น :
พลิกนโยบาย "เพื่อไทย" หลัง "ก้าวไกล" เปิดทางนำตั้งรัฐบาล
"ก้าวไกล" เปิดทาง "เพื่อไทย" ตั้งรัฐบาลส่งชื่อนายกฯ คนที่ 30