ยานโอไซริส-เร็กซ์ (OSIRIS-REx) ขององค์การนาซายิงจรวดขับเคลื่อนเพื่อปรับวงโคจรของยานเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 2023 เพื่อเตรียมบินผ่าน (fly-by) โลกในวันที่ 24 กันยายน ค.ศ. 2023 และส่งตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยเบนนู (Bennu) กลับสู่โลกสำหรับการวิเคราะห์โดยห้องปฏิบัติการภาคพื้นดิน
ปัจจุบัน ยานโอไซริส-เร็กซ์อยู่ห่างออกไปจากโลก 38.6 ล้านกิโลเมตร เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 35,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมงมุ่งหน้ากลับสู่โลก การปรับวงโคจรเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 2023 นั้นยิงจรวดขับเคลื่อนเป็นเวลาประมาณ 63 วินาที และเปลี่ยนความเร็วของยานไปเพียงแค่ 2 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการปรับเปลี่ยนวงโคจรดังกล่าว ยานโอไซริส-เร็กซ์จะบินพลาดดาวโลกไป และไม่สามารถส่งตัวอย่างกลับโลกได้ นอกจากการปรับวงโคจรในครั้งนี้แล้ว ยานโอไซริส-เร็กซ์ยังจะต้องยิงจรวดเพื่อปรับวงโคจรอีกครั้งในวันที่ 10 และ 17 กันยายน ค.ศ. 2023 ก่อนที่แคปซูลเก็บตัวอย่างจะเดินทางถึงโลกในวันที่ 24 กันยายน ค.ศ. 2023
การยิงทั้งสองครั้งจะเป็นการปรับตำแหน่งการกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของแคปซูลตัวอย่าง เพื่อให้มั่นใจว่าแคปซูลนั้นจะตกลงในพื้นที่ที่นาซาเตรียมการเก็บกู้ไว้แล้ว
ยานโอไซริส-เร็กซ์เก็บตัวอย่างพื้นผิวจากดาวเคราะห์น้อยเบนนูปริมาณ 57 กรัม เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 2020 หรือเมื่อเกือบ 3 ปีก่อน ก่อนที่จะเริ่มการเดินทางกลับสู่โลกเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ค.ศ. 2021 หลังจากการส่งตัวอย่างกลับโลกแล้ว ยานโอไซริส-เร็กซ์จะดำเนินภารกิจต่อภายใต้ชื่อใหม่ “โอไซริส-เอเป็กซ์” (OSIRIS-APEX) เพื่อสำรวจดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก “99942 อะโพฟิส” (Apophis) ในปี 2029
ที่มาภาพ: NASA
ที่มาข้อมูล: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech