เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2566 ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีจัดงาน "เปิดโลกวัฒนธรรมเกาหลี" เพื่อให้สมาชิกนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (TJA) องค์กรตัวแทนผู้สื่อข่าวแห่งประเทศไทย ได้ร่วมสัมผัสวัฒนธรรมเกาหลีที่หลากหลาย อาทิ วัฒนธรรมเกาหลีพื้นบ้าน อาหารเกาหลี และ K-Pop
จอน มิน-จี ทำการแสดงระบำกลองของอำเภอจินโด
ภายในงาน ผู้ร่วมงานทุกท่านได้ลองสวมชุดฮันบกขณะเดิมชมนิทรรศการที่ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี, รับชมการแสดงระบำกลองของอำเภอจินโด และสอนพื้นฐานการระบำหน้ากากอำเภอบงซาน จาก "จอน มิน-จี" อาจารย์สอนวัฒนธรรมเกาหลีของศูนย์ฯ, รับชมการแสดงร้องเพลงและเต้นจากเยาวชนไทย, การหัดทำกิมจิ จาก ยุน แดซุ เจ้าของร้านอาหารเกาหลี เป็นต้น
ยุน แดซุ เจ้าของร้านอาหารเกาหลี สอนทำกิมจิ
การแสดง K-pop Cover Dance จากเยาวชนไทย
Hallyu หรือ Korean Wave ซอฟต์พาวเวอร์ของเกาหลี
นายแจอิล โจ ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี ประจำประเทศไทยกล่าวว่า ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี ได้จัดนิทรรศการ อีเว้นท์ และคลาสเรียนต่างๆ เพื่อแนะนำวัฒนธรรมเกาหลี ภาษาเกาหลี และเทควันโดตั้งแต่ปี 2013 นอกจากนี้ศูนย์ฯ ยังพยายามอย่างหนักในการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ของเกาหลี-ไทย
เช่น ผลิต "เว็บตูน" รำลึกถึงการเสียสละของทหารผ่านศึกไทยที่เข้าร่วมในสงครามเกาหลี ให้การช่วยเหลือทีมงานถ่ายทำซีรีส์ "King The Land" ให้เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของไทยด้วย
นอกจากนี้ ผอ.ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี ยังแนะนำถึงวิธีที่เกาหลีพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นในปี 1990 มาจนถึงปัจจุบัน โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและเอกชนของเกาหลี ผ่านการนำเสนอในหัวข้อ "กระบวนการในการพัฒนา Korean Wave และผลกระทบทางเศรษฐกิจ"
ทางกระทรวงวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยว เกาหลี แบ่งเป็น 3 เจนเนอเรชัน ได้แก่
- Korean Wave 1.0 (1997-2000) เป็นช่วงเริ่มต้นของซีรีส์เกาหลี อาทิเช่น แดจังกึม,รักนี้ชั่วนิรันดร์ (Autumn in my heart) ที่สร้างกระแสนิยมไปทั่วเอเชีย
- Korean Wave 2.0 (2000-2010) จุดหลักมาอยู่ที่ไอดอลสตาร์เกาหลีที่ได้รับการฝึกฝนมานาน เป็นที่ได้รับความนิยมมากขึ้น และยิ่งเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกโดยผ่านกระแสการเติบโตโซเชียลมีเดีย Youtube เช่น PSY, Girls 'Generation
- Korean Wave 3.0 (2010-ปัจจุบัน) เป็นยุคที่เกาหลีเริ่มแตกแขนงผลงานมากขึ้น ทั้งภาพยนตร์, วัฒนธรรม, อาหาร โดยผ่านการสตรีมมิ่ง เน้นเป้าหมายไม่ใช่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เน้นไปทั่วโลก อาทิเช่น ความสำเร็จในการคว้ารางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ของ Parasite ในปี 2020, สูตรอาหารเกาหลีที่เป็นที่นิยมอย่างมากทั่วโลก, ศิลปินเกาหลี ที่เน้นขายให้กับกลุ่มแฟนเพลงทั่วโลก มากกว่าเฉพาะเอเชีย
เมื่อก่อนอาจมองแค่ Youtube, Facebook แต่ปัจจุบันเราเน้น Netflix หรือแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งออนไลน์อื่นๆ มากกว่า
ผอ.ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลี อธิบายความแตกต่างระหว่างแต่ละยุคของ Korean Wave หรือในภาษาเกาหลีคือ Hallyu
สื่อเกาหลีเคารพหลักสิทธิมนุษยชน
ภายในงานผู้สื่อข่าวจาก TJA ยังร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวทางทำงานข่าวของ 2 ประเทศ ไทย-เกาหลี โดย "คิม วอน-จัง" ผู้สื่อข่าว KBS และ "คัง จง-ฮุน" ผู้สื่อข่าวจากยอนฮับนิวส์ ที่ประจำอยู่ที่ประเทศไทย
2 ผู้สื่อข่าวเกาหลี ประจำประเทศไทย
โดยผู้สื่อข่าวจากไทยพีบีเอสออนไลน์ ได้สอบถามถึง หลักการทำงานในข่าวการเสียชีวิตของศิลปิน หรือ บุคคลที่มีชื่อเสียงในเกาหลี ที่ทางสื่อมวลชนเกาหลีจะไม่นำเสนอถึงสาเหตุการตายต่อสาธารณชน โดยทั้ง 2 ผู้สื่อข่าวได้อธิบายว่า เป็นกฎของทุกสถานีโทรทัศน์ในเกาหลี ที่ไม่นำเสนอเรื่องเหล่านี้เด็ดขาด เพราะคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ความเป็นส่วนตัว รวมถึงป้องกันการทำซ้ำจากกลุ่มแฟนคลับของศิลปินนั้นๆ
แต่เงื่อนไขที่ไม่นำเสนอคือ ต่อเมื่อเป็นการทำร้ายตัวเองจนถึงชีวิตเท่านั้น หากเป็นเรื่องของอาชญากรรม หรือ ฆาตกรรม ก็จะนำเสนออีกรูปแบบหนึ่ง
นอกจากนี้ยังกล่าวว่า เมื่อการบริโภคข่าวของคนเกาหลีเริ่มเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น สื่อทีวีเกาหลีก็ต้องพยายามปรับตัวให้มากด้วยเช่นกัน
อ่านข่าวอื่น :
น้ำมันขึ้นรับหยุดยาว! ปชช.ต่อคิวเติมน้ำมันหลังปรับขึ้น 70 สต.
วันแม่ 2566 : ตุยแน่! หนีแม่สุดชีวิต ... ฝีมือจิตรกรน้อย "น้องน้ำปั่น"