การยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ เป็นสิทธิ์ผู้ต้องขังทุกคนที่ต้องโทษประหาร หรือโทษจำคุกคดีถึงที่สุดแล้ว สามารถยื่นขอพระราชทานอภัยโทษได้
นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่รับคำพิพากษาโทษ 3 คดี ว่า นายทักษิณ ถือว่าเป็นผู้ต้องขังในกลุ่มสูงอายุ ที่ต้องเฝ้าระวังเรื่องสุขภาพร่างกาย และไม่ได้ขอสิทธิพิเศษ
ท่านก็เป็นผู้ใหญ่แล้ว แล้วก็เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่ม 608 ที่เราต้องระวัง ไม่ใช่ไปป่วยในเรือนจำ แล้วส่งต่อไม่ทัน จะเป็นเรื่องของความปลอดภัยขึ้นมาทันที ช่วงนี้ก็ต้องเฝ้าระวังเรื่องโควิดอีก เพราะท่านเคยติดโควิดมาหนักแล้ว หากติดอีกก็จะเป็นเรื่องใหญ่
ก็ต้องดูว่าผลทางการแพทย์เตรียมไว้อย่างไร จะส่งต่อไปไหม หากทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่มีแพทย์เฉพาะทางตามหลักแล้วเราก็ต้องส่งต่อไปที่โรงพยาบาลตำรวจเป็นอันดับแรกก่อน
ยื่นขอ “พระราชทานอภัยโทษ” ทำได้ทันที
ขณะที่ นายสิทธิ สุธีวงศ์ โฆษกกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า การยื่นขอคำร้องของนายทักษิณ สามารถทำได้ตั้งแต่ทราบผลคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล โดยจะต้องยื่นผ่านเรือนจำ ก่อนจะส่งเรื่องมายังกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการพระราชวัง ก่อนนำความขึ้นกราบบังคมทูล ซึ่งก็จะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน
โดยเอกสารประกอบการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษที่สำคัญ ๆ มีอยู่ 10 ชนิด คือ แบบสอบสวนเรื่องราวทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา, ฎีกาทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษ, สำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชน, สำเนาคำพิพากษาของทุกชั้นศาล
สำเนาหมายจำคุกคดีถึงที่สุด, สำเนารายงานตัวในเรือนจำ, ทะเบียนประวัติอาชญากร, ใบความเห็นแพทย์ที่อ้างปัญหาสุขภาพ, คำสั่งถอดยศกรณีผู้ต้องขังเคยเป็นตำรวจ หรือทหาร และหนังสือรับรองความประพฤติ และการพรรณนาคุณงามความดีที่เคยทำมา
จะใช้เวลาไม่เกิน 1-2 เดือน ขึ้นอยู่กับในแต่ละขั้นตอนส่วนใหญ่ จะช้าหรือเร็ว อยู่ที่การรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพราะบางทียื่นมาแล้วเอกสารไม่ครบก็ต้องตีกลับไป เมื่อส่งเรื่องถึงสำนักองคมนตรีแล้ว ขั้นตอนการวินิจฉัยก็จะแล้วแต่พระราชอำนาจ ไม่มีเงื่อนกำหนดเวลา
“วิษณุ” ยันไม่ได้อำนวยความสะดวก “ทักษิณ”
ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่มีการอำนวยความสะดวกให้กับนายทักษิณ เป็นกระบวนการตามขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษ นักโทษที่ยื่นตั้งแต่วันแรกที่เข้าเรือนจำมีเยอะแยะ เพียงแต่หากยื่นเร็วไปหน่อย ก็จะเกิดความเสี่ยงว่า จะอ้างคุณงามความดี ผลงานอะไร โดยมากเขาก็จะบอกว่ารับโทษไปแล้วระยะหนึ่ง แล้วก็เป็นนักโทษชั้นดี ชั้นเยี่ยม อะไรก็ตาม คือมันมีเรื่องให้พรรณนา แต่หากเร็วไปมันก็จะไม่มีเรื่องให้พรรณนา หรือมีตนก็ไม่รู้
ด้าน นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการอาวุโส สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า การขอพระราชทานอภัยโทษ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ เป็นพระราชทานอภัยโทษทั่วไป คือในช่วงงานพระบรมราชพิธีสำคัญ และพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย ที่ผู้ต้องขังทุกคนสามารถขอพระราชทานอภัยโทษได้ เช่นเดียวกับ นายทักษิณ
โดยการขอพระราชทานอภัยโทษ สามารถขอได้ทั้งผู้ต้องขังต้องโทษประหารชีวิต จำคุก รวมทั้งขอคืนค่าปรับก็ได้ ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัย ตามเอกสารหลักฐานที่ได้แนบมา และเป็นสิทธิ์ของผู้ต้องขังทุกคนที่สามารถทำได้ ส่วนเหตุผลที่จะยื่นฎีกาไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเจ็บป่วย
เป็นเรื่องปกติที่จะยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ เพียงแต่ว่าคุณทักษิณเป็นคนที่มีความรู้ และมีเงิน ก็มีทีมงานมีที่ปรึกษาเยอะ อาจจะแตกต่างจากชาวบ้าน ที่ชาวบ้านยากไร้แล้วไม่มีทีมงาน แต่เราก็มักจะไปดรามาว่า "คุกมีไว้ขังคนจน" แต่ไม่ใช่ แต่มันเป็นโอกาสทางสังคม ที่มันไม่เท่าเทียมกันต่างหาก ถ้าหากรู้เหมือนกันหมด เขาก็ยื่นหมดทุกคนแหละ
การขอพระราชทานอภัยโทษจะเป็นเหตุผลกว้างๆ มากกว่า ไม่ใช่เฉพาะป่วย คงไม่ใช่เหตุผลหลัก แต่เหตุผลหลักที่ไม่ควรได้รับโทษมันมีหลายประเด็น เช่น เคยมีคดีที่นายทหารชั้นผู้ใหญ่ เป็นผู้ต้องขังในคดีค้าอาวุธเอ็ม-16 ขอพระราชอภัยโทษ โดยอ้างว่าประกอบคุณงามความดี รับราชการทหารมาปกป้องประเทศชาติ จึงขอพระราชทานอภัยโทษก็มี
ส่วนใหญ่คดีที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง ก็จะอ้างคุณงามความดีที่ตัวเองเคยสะสมมา คุณทักษิณอาจจะอ้างเรื่องการบริหารประเทศที่ผ่านมา เรื่องการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิก็ได้
สำหรับการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ หากถูกยกฎีกา ผู้ต้องขังต้องรอเวลาอีก 2 ปี จึงจะยื่นฎีกาได้ใหม่อีกครั้ง ซึ่งหลังจากนี้จะมีการยื่นฎีกาของนายทักษิณหรือไม่ ต้องรอติดตาม แต่ก็หากยื่นก็ถือว่าเป็นไปตามสิทธิ์ของผู้ต้องขังทุกคนที่ต้องโทษคดีถึงที่สุดแล้วสามารถทำได้
รายงาน : เบญจพจน์ ทิพย์กมลแสง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส
อ่านข่าวอื่นๆ
"เศรษฐา" แจงชื่อ "พิชิต" โผล่โผ ครม. บอก 2 วันรู้ รมว.กลาโหม
เสียงขู่แกนนำเสื้อแดงอีสาน กระทบโผ ครม.กระทรวงใหญ่
"โรม " แถลงยืนยัน "พงศธร" ผู้สมัครเลือกตั้งซ่อม สส.ระยอง คุณสมบัติถูกต้อง