ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หาคำตอบในบิล ทำไมใช้ไฟฟ้าเท่าเดิม แต่จ่ายแพงขึ้น

เศรษฐกิจ
14 ก.ย. 66
12:18
9,249
Logo Thai PBS
หาคำตอบในบิล ทำไมใช้ไฟฟ้าเท่าเดิม แต่จ่ายแพงขึ้น
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง แถลงผลการประชุม ครม. นัดแรก เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2566 ที่ผ่านมา โดยเห็นชอบปรับลดค่าไฟให้กับประชาชนเหลือ 4.10 บาท เริ่มตั้งแต่รอบบิลเดือน ก.ย. นี้เป็นต้นไป

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะต้องรับไปดำเนินการต่อจากนี้ ไปบริหารจัดการให้เหลือ 4.10 บาท ในรอบบิลเดือน ก.ย. จากเดิมที่ ครม.พล.อ.ประยุทธ์ เคาะค่าไฟเหลือ 4.45 บาทต่อหน่วย ค่า FT ที่ 66.89 สตางค์ ในรอบบิล ก.ย. - ธ.ค. 2566 มาแล้ว

ขณะที่ กกพ.เร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กฟผ. กฟน. กฟภ. และ ปตท. เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินการให้แล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้ภายใน 1 สัปดาห์หลังจากนี้

อ่านข่าว : ครม.นัดแรก เคาะ "ลดค่าไฟ-น้ำมัน" ปรับจ่ายเงินเดือน ขรก.เป็น 2 รอบ

วันนี้ไทยพีบีเอสออนไลน์ รวบรวมข้อมูลที่คนใช้ไฟฟ้าควรรู้ ไม่เพียงแต่ยอดที่ต้องชำระแต่ในนั้นยังมีรายละเอียด ค่าบริการต่าง ๆ อะไรอีกบ้าง 

ส่วนประกอบของค่าไฟ 2566 ?

หยิบบิลค่าไฟฟ้า เช็กทีละบรรทัดจะมีการชี้แจงว่า ค่าบริการต่าง ๆ มีอะไรบ้าง โดย ค่าไฟที่จ่ายกันทุกเดือน มีอยู่หลัก ๆ คือ ค่าพลังงานไฟฟ้า (ค่าไฟฐาน) ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า FT, ภาษีมูลค่าเพิ่ม และ ค่าบริการ

ค่าพลังงานไฟฟ้า หรือ ค่าไฟฐาน 

คำนวณจากต้นทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ระบบส่ง ระบบจำหน่าย และค่าผลิตพลังงานไฟฟ้า ภายใต้สมมติฐานความต้องการใช้ไฟฟ้า ราคาเชื้อเพลิง อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราเงินเฟ้อ โดยจะมีการปรับทุก 3 - 5 ปี 

ค่าไฟฐาน คือ ค่าการใช้ไฟฟ้า ซึ่งคิดจากต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า โดยการคำนวณจะแบ่งตามประเภท ดังนี้ บ้านอยู่อาศัย, กิจการขนาดใหญ่, กิจการเฉพาะอย่าง, องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร, สูบน้ำเพื่อการเกษตร, ผู้ใช้ไฟฟ้าชั่วคราว เช่น สถานที่ที่จัดตั้งขึ้นชั่วคราว ไม่มีทะเบียนบ้าน 

ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่า FT

ในบิลค่าไฟฟ้าจะมีรายการหนึ่งที่เรียกว่า ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่า FT มาจากคำว่า Float Time หมายถึง การลอยค่าของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ราคาเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น ตามช่วงเวลาต่าง ๆ ที่ใช้เป็นกรอบในการคำนวณ

การปรับอัตราค่า FT จะมีการปรับทุก 4 เดือน หรือ 3 ครั้งต่อปี เพื่อให้เกิดการสะท้อนต้นทุนที่อยู่ในค่าไฟฟ้าฐานที่อยู่เหนือการควบคุมของการไฟฟ้า ได้แก่ ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากค่าไฟฟ้าฐาน

ขณะที่ สภาองค์กรของผู้บริโภคได้อธิบาย ค่า FT ไว้ว่าเป็น สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ที่บวกเข้าไปกับค่าไฟฟ้าฐาน หรือจำนวนหน่วยที่ประชาชนใช้ต่อครัวเรือนรายเดือน ซึ่งค่า FT จะถูกนำมาบวกเพิ่ม หรือลดจากค่าไฟฟ้าที่ผู้บริโภคใช้ไปในแต่ละเดือน หรือในบางครั้งก็จะนำไปลบจากค่าไฟฟ้าฐาน

ค่าบริการ

คือ ค่าใช้จ่ายในการให้บริการจำหน่ายไฟฟ้า เช่น การอ่านหน่วยและจดหน่วย การจัดทำ และจัดส่งบิลค่าไฟฟ้า ระบบรับชำระเงิน  และบริการลูกค้าผู้ใช้ไฟฟ้า

ภาษีมูลค่าเพิ่ม  

นอกจากจะมีการจ่ายภาษีในมูลค่าเพิ่มในการเข้าไปใช้บริการในห้างร้านต่าง ๆ แล้ว ลองสังเกตไปที่บิลค่าไฟฟ้าดู ว่าก็ต้องเสีย VAT 7% เช่นกัน

รูปแบบอัตราค่าไฟฟ้า มีกี่รูปแบบ ?

สำหรับรูปแบบอัตราค่าไฟฟ้า แบ่งเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้

1. อัตราปกติ กำหนดอัตราค่าไฟต่อหน่วยไว้เป็นอัตราก้าวหน้า หรือ แบบขั้นบันได และยังแบ่งขนาดการใช้ไฟฟ้าเป็นประเภทที่ใช้ไฟไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน กับประเภทที่ใช้ไฟเกิน 150 หน่วยต่อเดือน โดย 2 แบบนี้ มีช่วงจำนวนหน่วยการใช้ไฟฟ้าไม่เท่ากัน และอัตราค่าบริการรายเดือนก็ไม่เท่ากัน

2. อัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาของการใช้ หรือ Time of Use Tariff : TOU คือ อัตราค่าไฟฟ้าที่กำหนดตามช่วงเวลาการใช้งาน แบ่งเป็นช่วง ดังนี้

- ช่วง On Peak : ช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ค่าพลังงานไฟฟ้าต่อหน่วยจะสูง เวลา 09.00 - 22.00 น. (วันจันทร์ - ศุกร์ และวันพืชมงคล)

- ช่วง Off Peak : ความต้องการใช้ไฟน้อย เวลา 22.00 - 09.00 น. วันจันทร์ - ศุกร์ และวันพืชมงคล และเวลา 00.00 - 24.00 น. วันเสาร์ - อาทิตย์ หากมีการเปลี่ยนแปลงวันหยุดราชการ การกำหนดวัน Off-Peak ให้เป็นไปตามที่ กกพ. กำหนด

อัตราค่าไฟฟ้าแบบ TOU ดีอย่างไร ทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้เพราะ อัตราปกติที่มีการคิดค่าไฟฟ้าเป็นแบบอัตราก้าวหน้า ค่าไฟฟ้า ขึ้นกับหน่วยการใช้ไฟฟ้า ยิ่งใช้ไฟฟ้ามากก็ยิ่งเสียเงินค่าไฟฟ้ามากทำให้รู้สึกว่าค่าไฟฟ้าสูงเกินไป แต่การคิดอัตราค่าไฟฟ้าแบบ TOU จะเป็นการแบ่งการคิดค่าไฟฟ้าตามอัตราที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้า

3. อัตราตามช่วงเวลาของวัน หรือ Time of Day Tariff : TOD เป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่กำหนดต่างกันตามช่วงเวลาของวัน แบ่งเป็น ช่วง On Peak ช่วง Partial Peak และ และ Off Peak คือ การคิดค่าความต้องการไฟฟ้าเฉพาะส่วนที่เกินจาก On Peak ในอัตราที่ถูกกว่าช่วง On Peak และช่วง Off Peak ตั้งแต่ 21.30 - 08.00 น. จะไม่คิดค่าความต้องการไฟฟ้า ดังนั้นโรงงานจึงต้องบริหารจัดการการใช้เครื่องจักรในช่วงนี้ และไปใช้ในช่วง Off Peak ให้มากที่สุด

ค่า FT มีผลต่อค่าไฟอย่างไร ?

การปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าแต่ละครั้งจะมีหลายองค์ประกอบ โดยหนึ่งนั้น คือ ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่า FT โดยค่าดังกล่าวจะผกผันตามสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

ประโยชน์ของค่า FT นั้นคือ หากในการคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าได้คาดการณ์ราคาเชื้อเพลิงไว้สูง แต่ 4 เดือนต่อมาราคาค่าเชื้อเพลิงปรับลดลง หากไม่มีค่า FT มาสะท้อนต้นทุนที่ลดลงนั้นผู้ใช้ไฟฟ้าอาจเสียประโยชน์ เพราะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพง

ค่า FT เป็นตัวสะท้อนต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมกับผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ผลิตไฟฟ้า ถือเป็นกลไกที่สร้างความเป็นธรรมให้ทั้งสองฝ่าย

ค่าไฟหน่วยละเท่าไร 

ยกตัวอย่างอัตราค่าไฟฟ้า "ประเภทที่อยู่อาศัย" สำหรับการใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือนที่อยู่อาศัย วัดและโบสถ์ของศาสนาต่าง ๆ  โดยต่อผ่านเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเครื่องเดียว โดยอัตรานี้ ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เริ่มใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2561 ดังนี้

อัตราปกติใช้พลังงานไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน (ค่าบริการ 8.19 บาท)

  • 15 หน่วย (กิโลวัตต์ชั่วโมง) แรก (หน่วยที่ 1-15) หน่วยละ 2.3488 บาท
  • 10 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 16-25) หน่วยละ 2.9882 บาท
  • 10 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 26-35) หน่วยละ 3.2405 บาท
  • 65 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 36-100) หน่วยละ 3.6237 บาท
  • 50 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 101-150) หน่วยละ 3.7171 บาท
  • 250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151-400) หน่วยละ 4.2218 บาท
  • เกินกว่า 400 หน่วย (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) หน่วยละ 4.4217 บาท

อัตราปกติใช้พลังงานไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน (ค่าบริการ 38.22 บาท)

  • 150 หน่วย (กิโลวัตต์ชั่วโมง) แรก (หน่วยที่ 1-150) หน่วยละ 3.2484 บาท
  • 250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151-400) หน่วยละ 4.2218 บาท
  • เกินกว่า 400 หน่วย (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) หน่วยละ 4.4217 บาท

สังเกตการใช้ไฟฟ้าที่บ้านของตัวเอง 

แต่ละเดือนแต่ละบ้านได้รับบิลค่าไฟทีแล้วจะเป็นลม ทำไมเดือนนี้ค่าไฟก็แพงขึ้น ทั้งที่ใช้ไฟจำนวนหน่วยเท่าเดิม นั้นอาจมาจากการปรับเรียกเก็บค่า FT และค่าบริการอื่น ๆ แต่หากยังแพงกว่าเดือนก่อนมาก อาจมาจาก "พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า" หรืออาจเครื่องใช้ไฟฟ้าชำรุด ไฟรั่ว ลองสังเกตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านดู

หรือ อาจต้องแจ้งไปยังผู้ให้บริการ ตามพื้นที่ที่เราอยู่ การไฟฟ้านครหลวง หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 

อยากคำนวณค่าไฟ ทำได้ที่ไหนบ้าง ?

เทคนิคประหยัดไฟ ใคร ๆ ก็ทำได้ที่บ้าน 

สำหรับเคล็ดลับเทคนิคประหยัดไฟ เรื่องง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็ทำได้ที่บ้านด้วยตัวเอง สบายใจ หายห่วง มาบอกกัน…

  • ถอดปลั๊กทุกครั้งหลังเลิกใช้งาน
  • เลือกใช้หลอดไฟ LED เนื่องจากช่วยประหยัดพลังงานได้สูงที่สุดถึง 80% ใช้พลังงานน้อย แต่ให้ความสว่างมาก
  • หมั่นล้างแผ่นกรองอากาศแอร์ให้สะอาดอยู่เสมอ
  • ซักผ้า ควรให้ปริมาณพอดีกับความจุของถัง เลือกระดับน้ำพอดีกับปริมาณผ้า ใช้อุณหภูมิปกติ
  • จัดระเบียบให้ตู้เย็น ไม่ให้ของแน่นเกินไป ไม่เปิดตู้เย็นบ่อย ๆ ไม่เปิดทิ้งไว้นาน ๆ

(อ้างอิงข้อมูล : สภาองค์กรของผู้บริโภคกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, การไฟฟ้านครหลวง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับกระแสการเมือง 20 ก.ย.66 จบศึกซักฟอกนโยบายฯเพื่อไทย แจ้งเกิด 5 สส.ดาวรุ่งหน้าใหม่ บนเวทีการเมือง

เริ่ม 1 ม.ค.67 ปรับวิธีจ่ายเงินเดือนข้าราชการเดือนละ 2 รอบ

ครม.อนุมัติงบอุดหนุนเด็ก 990 ล้านบาท จ่ายงวดแรก 18 ก.ย.นี้

ครม.นัดแรก เคาะ "ลดค่าไฟ-น้ำมัน" ปรับจ่ายเงินเดือน ขรก.เป็น 2 รอบ

"เศรษฐา" นั่งหัวโต๊ะครม.นัดแรก-ลุ้นลดค่าไฟ-น้ำมัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง