พล.ต.ต.ชัยรพ จุณณวัตต์ ผู้บังคับการตำรวจรถไฟ พร้อมตำรวจรถไฟ เดินตรวจความเรียบร้อยและดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสารที่สถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นวันสุดท้าย หลังจากมีการประกาศราชกิจจานุเบกษา พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ยุบกองบังคับการตำรวจรถไฟ โดยมีกำหนดให้เวลา 24.00 น.วันนี้เป็นวันสุดท้ายในการปฏิบัติหน้าที่
หลังจากมีการประกาศราชกิจจานุเบกษา พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ยุบกองบังคับการตำรวจรถไฟ โดยในเวลา 24.00 น.วันนี้เป็นวันสุดท้ายในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจรถไฟ
ด้าน ร.ต.ท.หญิง ภาขวัญ ธาราฉัตร รองสารวัตรปราบปราม สถานีตำรวจรถไฟนพวงศ์ ที่ผูกพันกับหน้าที่ตำรวจรถไฟมานานกว่า 27 ปี โดยเฉพาะภารกิจการดูแลผู้โดยสารในตู้โดยสารเลดี้บนขบวนรถไฟสายต่าง ๆ และขบวนรถไฟสายกรุงเทพ-เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่มีหน้าที่ดูแลผู้โดยสารไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไปหรือนักท่องเที่ยว
ร.ต.ท.หญิง ภาขวัญ ธาราฉัตร รองสารวัตรปราบปราม สถานีตำรวจรถไฟนพวงศ์
หลังจากทราบว่า ตำรวจรถไฟจะถูกยุบก็มีประชาชนมาพูดคุยและชื่นชมการทำหน้าที่ของตำรวจรถไฟว่า อุ่นใจทุกครั้งที่พบเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบบนขบวนรถไฟซึ่งที่ผ่านมามีความสุขกับหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบเป็นอย่างมาก และรู้สึกใจหายที่ต้องยุติบทบาทหน้าที่ตั้งแต่พรุ่งนี้ (17 ต.ค.66) เป็นต้นไป
ขณะที่ประชาชนผู้โดยสารส่วนหนึ่งเปิดเผยว่า พอทราบเรื่องว่า จะไม่มีตำรวจรถไฟคอยเดินตรวจบนขบวนอย่างแล้ว ก็มีความกังวลว่า ใครจะมาทำหน้าที่ในส่วนนี้แทน หากเป็นเจ้าหน้าที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยเข้ามารับช่วงต่อ จะสามารถดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสารได้จริงหรือไม่
พล.ต.ต.ชัยรพ เผยว่า สำหรับบทบาทหน้าที่ของตำรวจรถไฟที่ผ่านมา มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยบนขบวนรถ ดูความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงการสอบสวนและปราบปรามอาชญากรรมต่าง ๆ ในพื้นที่การรถไฟทั่วประเทศ ซึ่งมีเขตอำนาจการสอบสวนของตำรวจรถไฟอยู่ในกรุงเทพมหานคร มีสถานีตำรวจรถไฟนพวงศ์ สถานีตำรวจรถไฟมักกะสัน และสถานีตำรวจรถไฟธนบุรี ทั้ง 3 ส่วนอำนาจการสอบสวนได้สิ้นสุดไปตั้งแต่ วันที่ 15 ต.ค.2566 โดยจะส่งมอบสำนวนคดีไปที่สถานีตำรวจนครบาลของแต่ละพื้นที่ดูแลเรื่องคดีต่อ
พล.ต.ต.ชัยรพ จุณณวัตต์ ผู้บังคับการตำรวจรถไฟ (ซ้าย)
สำหรับกองบังคับการตำรวจรถไฟ เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยเกือบทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย ดูแลการสืบสวนสอบสวนในพื้นที่สถานีรถไฟ และชานชาลากว่า 450 แห่ง ทางรถไฟกว่า 4,000 กิโลเมตร จุดตัดผ่านทางรถไฟกว่า 5,000 จุด ผู้โดยสารกว่า 30 ล้านคนต่อปี ขบวนรถโดยสารกว่า 240 ขบวน ซึ่งไม่รวมขบวนรถสินค้า
ปัจจุบันมีอัตรากำลังพลกว่า 600 นาย กระจายอยู่ใน 15 สถานีตำรวจตามเส้นทางรถไฟ และมีหน่วยบริการอยู่ตามสถานีรถไฟ 40 แห่ง ซึ่งทางกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้เตรียมรองรับตำรวจเข้าทำงานในหน่วยงานในสังกัดเป็นที่เรียบร้อยเเล้ว
ตำรวจรถไฟดูแลความเรียบร้อยและความปลอดภัยบนขบวนรถไฟ
สำหรับข้อมูลคดีอาชญากรรมส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตำรวจรถไฟ พบคดีจับแรงงานต่างด้าวมากที่สุด เฉลี่ยต่อปีมากกว่า 4,000 คดี และคดียาเสพติดเฉลี่ยต่อปี อีกหลายสิบคดี
ตำรวจรถไฟปฏิบัติภารกิจดูแลความปลอดภัยผู้ที่มาใช้บริการรถไฟ
นอกจากนี้ยังมีคดีอุบัติเหตุทางรถไฟและคดีประสงค์ต่อทรัพย์ อีกจำนวนมากที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งหลังจากนี้คดีที่เกิดในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย จะถูกจัดให้สถานีตำรวจแต่ล่ะท้องที่เป็นคนดูแล ส่วนหน้าที่ดูแลผู้โดยสารบนขบวนรถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทยจะเป็นผู้จัดหาเจ้าหน้าที่มาปฏิบัติงานในส่วนนี้แทน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผบ.ตร.เล็งเปิดหน่วยใหม่ รองรับ "ตำรวจรถไฟ"
ความปลอดภัย ปชช.นั้นสำคัญ ปากท้องลูกน้องนั้นก็น่าห่วง
เสียงสะท้อน "ไม่อยากให้ยุบ" ตำรวจรถไฟ