กรมการขนส่งทางราง ออกมาสรุปทันควันใน 1 วันต่อมา ระบุยอดผู้โดยสารเพิ่มขึ้นทะลุหลักหนึ่งแสนคนทันที มีคนใช้บริการทั้งสายสีแดงและสายสีม่วงรวมกัน 101,289 คนต่อเที่ยว เพิ่มขึ้น 10 % จากค่าเฉลี่ยเดิม
ถือเป็นความสำเร็จขั้นต้นของนโยบายรถไฟฟ้าตลอดสายไม่เกิน 20 บาท โดยพรรคเพื่อไทย ที่เริ่มชูนโยบายนี้หาเสียงอย่างจริงจัง ตั้งแต่เลือกตั้งซ่อม สส.เขต 9 กรุงเทพฯ หลักสี่-จตุจักร ปลายเดือน ม.ค.2665
ที่นายสุรชาติ เทียนทอง จากพรรคเพื่อไทย ผู้ชนะเลือกตั้ง ท่ามกลางการร้องเรียนของอดีต สส.พรรคพลังประชารัฐ เจ้าถิ่นเดิม โจมตีกล่าวหาเรื่องรถไฟฟ้าตลอดสาย 20 บาทไม่สามารถทำได้จริง ถึงขั้นร้องเรียนไปยัง กกต.
ก่อนที่ในการเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 นโยบายเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้า จะเป็นหนึ่งในนโยบายที่หลายพรรคใช้ต่อสู้ในสนามเลือกตั้ง รวมทั้งค่าโดยสารตลอดสาย 20 บาท ของพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย
แม้นโยบายรถไฟฟ้าตลอดสายไม่เกิน 20 บาท ของพรรคเพื่อไทย จะไม่ได้บรรจุในเอกสารแถลงนโยบายต่อรัฐสภา แต่รัฐบาลได้แสดงจุดยืนและท่าทีในเรื่องนี้ตั้งแต่การประชุม ครม.นัดแรก 13 ก.ย.
ที่ออกมาตรการช่วยประชาชน 8 มาตรการ เช่น ลดค่าไฟฟ้า ลดราคาน้ำมันดีเซล และแม้จะไม่มีเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้าไม่เกิน 20 บาทรวมอยู่ด้วย
แต่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ได้เริ่มเปิดแง้มว่า ยืนยันรัฐบาลจะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จภายใน 2 ปี ก่อนจะปรับท่าทีและคำพูดแทบไม่ทัน เมื่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี บอกว่า จะต้องทำทันที
ก่อนเป็นที่มาของรถไฟฟ้าสายสีแดงและสีม่วง ที่เริ่มตามมาตรการนี้ทันที ไปจนถึง 30 พ.ย.2567 หรือประมาณ 1 ปีเท่านั้น แม้นายสุริยะจะให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อครบกำหนดอาจมีการขยายเวลาออกไปอีก
แต่มุมมองของ สส.พรรคก้าวไกล ที่ยึดครองเสียง สส.ส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ผู้คนได้ใช้บริการรถไฟฟ้า กลับสะท้อนข้อมูลอีกชุดหนึ่งที่ว่า ยังไม่อาจสรุปได้ว่านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสายที่รัฐบาลหาเสียงไว้ ได้ทำสำเร็จแล้ว
นายสุรเชษฐ์ ปวีณวงศ์วุฒิ สส.พรรคก้าวไกล พูดชัดเจนว่า ตัวชี้วัดที่แท้จริง จะอยู่ที่รถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีส้ม รวมทั้งสายสีน้ำเงิน ที่คนใช้จำนวนมาก ส่วน 2 สายที่เริ่มใช้ก็ทำได้ง่ายเพราะเป็นของรัฐ ไม่ใช่โครงการที่ทำโดยเอกชน และจะส่งผลถึงตัวเลขขาดทุนทั้ง 2 สายที่ประสพอยู่แล้ว จะเพิ่มขึ้นไปอีก
ทั้งยังระบุด้วยว่า 2 สายแรกที่เริ่มต้นโครงการรถไฟฟ้า ราคา 20 บาท ทำได้ง่ายเพราะเป็นของรัฐ จะต่างจากโครงการที่เอกชนบริหารจัดการ นอกจากนี้ สายสีแดงที่เป็นสายชานเมือง ยังเป็นหนึ่งในสายที่คนใช้บริการค่อนข้างน้อย
ข้อเท็จจริงอีกอย่างหนึ่งของคนกรุงเทพฯและปริมณฑล ต่อเรื่องนโนบายรัฐบาล คือขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศชื่นชอบและมุ่งหวังอยากได้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท มากเป็นอันดับ 1 แต่คนกรุงเทพฯ กับปริมณฑล กลับต้องการรถไฟฟ้าตลอดสายไม่เกิน 20 บาทมากเป็นอันดับหนึ่ง
สอดคล้องกับนิด้าโพล 5 ก.ย.2566 ผลการสำรวจเรื่อง “นโยบายพรรคเพื่อไทยทำได้จริงหรือ” ที่พบว่าเรื่องที่คนกรุงอยากได้มากที่สุดคือ “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” สูงถึง 90 %
สาเหตุสำคัญน่าจะมากหลายปัจจัย แต่หนึ่งในปัจจัยดังกล่าว ต้องมีเรื่องสภาพการจราจรที่ติดขัดอย่างหนักในกรุงเทพฯ หรือแม้แต่ย่านชุมชนเมืองในพื้นที่ปริมณฑล ส่งผลถึงสภาพความเป็นอยู่ การใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ คุณภาพชีวิต และมีผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ อย่างไม่อาจปฏิเสธได้
จึงเป็นความสุขเล็ก ๆ ของคนกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่พร้อมอกพร้อมใจออกไปใช้บริการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายตั้งแต่วันแรกที่เริ่มมีผลบังคับใช้ แต่จะตลอดไปหรือไม่ ยังต้องขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา